ผ่าน 399 โค้งเบา ๆ เราก็มาถึง บ้านอีต่อง
399 โค้งไต่ระดับเลียบภูผา เป็นเส้นทางที่ต้องอาศัยความชำนาญในการขับรถอยู่พอสมควร ชาวบ้านบอกในช่วงกลางคืน จะไม่มีการสัญจรไปมา ด้วยสภาพถนนเลียบแนวเขาสูงที่มีโค้งสลับซับซ้อนจนอาจจะเสี่ยงอันตราย และอาจจะพบกับกับเหล่าช้างป่าขาใหญ่ที่จะออกมาหาอาหาร
เมื่อมาถึงบ้านอีต่อง มองเห็นเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ในหุบเขา มองไปทางไหนก็มีแต่ผืนป่า แทบไม่น่าเชื่อว่าสมัยก่อน ตอนเหมืองแร่มีคนงานอาศัยอยู่มาก ที่นี่เคยมีโรงหนังถึงสองแห่ง
หมู่บ้านอีต่อง ต.ปิล็อก อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี อีกแหล่งเหมืองแร่ที่เคยรุ่งเรืองในอดีต ปัจจุบันยังคงหลงเหลือหลักฐานทางประวัติศาสตร์เป็นอุโมงค์เหมืองแร่ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชม
ด้วยความสูงเหนือระดับน้ำทะเลราว 1,000 เมตร ทำให้พื้นที่แห่งนี้มีอากาศเย็นสบาย โดยเฉพาะช่วงเช้าและช่วงค่ำ สายอีโคชอบมาก เพราะเป็นหมู่บ้านในหุบเขา อยู่กลางป่ากลางดง มีเส้นทางเดินขึ้นเขาชมธรรมชาติท้าท้ายแข้งขา ที่ถูกใจถูกจริตผู้พิชิตมาก ๆ ก็เห็นจะเป็นเขาช้างเผือก ซึ่งต้องมาเริ่มต้นกันที่หมู่บ้านแห่งนี้
แม้ว่าเส้นทางคดเคี้ยวบนภูเขาราว 30 กิโลเมตรจะเป็นภารกิจอันท้าทายของเหล่านักเดินทาง แต่การมาเยือนหมู่บ้านอีต่องในปัจจุบันก็ทำได้ไม่ยากนัก มีรถสองแถวจากตลาดทองผาภูมิไปบ้านอีต่องวันละ 4 รอบ
ปัจจุบันแหล่งชุมชนเหมืองแร่ที่เคยคึกคัก ก็ปรับสภาพมาเป็นหมู่บ้านเพื่อการท่องเที่ยวที่ครึกครื้น มีที่พักแบบโฮมสเตย์แนวตั้งเรียงรายเต็มไปหมด นิยมสร้างตึกแบบผอม ๆ สูง ๆ ตามสภาพพื้นที่ที่มีจำกัด
ด้านหน้าหมู่บ้านบริเวณบึงน้ำ คือจุดรวมพลของคนที่มาเยือนบ้านอีต่อง รถส่วนใหญ่จะจอดรับส่งบริเวณนี้ เพราะถนนในด้านที่พักมีความแคบ รถวิ่งสวนกันได้แบบเฉียดฉิว แถมยังเป็นซอยตัน ช่วงวันหยุดยาวจะมีผู้คนหนาแน่น ที่พักทุกแห่งถูกจองเต็มโดยเฉพาะช่วงหน้าหนาว แต่ละแห่งมีวิวสวย ๆ ในมุมของตัวเอง ส่วนใหญ่มองออกไปก็จะเป็นภูเขา หากใครพักฝั่งหมู่บ้าน ก็จะเห็นหลังคาเรือนที่เรียงรายอยู่เป็นตับ แต่ก็มีจำนวนไม่มากนัก
หมู่บ้านอีต่อง เดิมมีชื่อว่า “หมู่บ้านณัตเอ็งต่อง” แปลว่า บ้านเทพเจ้าแห่งขุนเขา เมื่อเวลาผ่านไปก็เรียกกันเพี้ยนไปจนเหลือแค่ “หมู่บ้านอีต่อง” เป็นชุมชนไทย-เมียนมาร์ เพราะอยู่สุดชายแดน มีเทือกเขาตะนาวศรีเป็นแนวแบ่งเขต วิถีชีวิตของชาวบ้านอีต่องจึงมีเอกลักษณ์
ภายในหมู่บ้านจะมีการจัดการเรื่องน้ำ-ไฟ เราอาจจะได้ยินประกาศในบางช่วงเวลา บางวันหากเครื่องปั่นไฟทำงานหนัก อาจจะต้องรีบอาบน้ำกันตั้งแต่หัวค่ำ แต่โดยรวมแล้วยังถือว่ามีความสะดวกสบาย ไม่ได้ลำบากยากเย็นเป็นหมู่บ้านลับเหมือนในอดีต
ยามเช้าที่บ้านอีต่อง เรามองเห็นสายหมอกปกคลุมบนยอดเขา หากเดินขึ้นไปบริเวณ “วัดเหมืองแร่ปิล็อก” หรือ “วัดเหมืองปิล็อก” จะมองเห็นภาพในมุมที่กว้างขึ้น วัดแห่งนี้เป็นสถานที่ประดิษฐาน “พระพุทธรัตนศากยมุนี ศรีทองผาภูมิ” ที่มองเห็นได้จากทุกทิศทาง ในทุกเช้าพระสงฆ์และสามเณร จะออกบิณฑบาต จากวัดบนเนินเขาเข้าสู่ตัวหมู่บ้าน ผ่านย่านที่พัก จึงเป็นอีกช่วงเวลาที่เหล่าพุทธศาสนิกชนจะได้ร่วมทำบุญ
หากมองจากตัวหมู่บ้านอีต่อง เราจะเห็นทิวเขาที่รายล้อม หนึ่งในนั้นคือยอดดอยปิล็อก หรือที่เรียกว่า “เนินช้างศึก” จุดยุทธศาสตร์แห่งหนึ่งของชายแดนไทย-เมียนมาร์ เป็นที่ตั้งฐานของตำรวจตระเวนชายแดนที่ 135 สถานที่ตั้งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล ประมาณ 1,053 เมตร
จากบ้านอีต่องเราสามารถเดินเท้าเป็นระยะทางราว 2 กิโลเมตรไปยังเนินช้างศึก ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาและพละกำลังกันมากหน่อย แต่อีกทางเลือกในการนั่งรถขึ้นไป ซึ่งจะมีรถบริการจากหมู่บ้านตลอดทั้งวัน สำหรับช่วงเช้าและเย็นในการชมพระอาทิตย์ขึ้นหรือตก ค่าโดยสารท่านละ 50 บาท เต็มเมื่อไหร่ก็ออก หากจะเหมาก็คันละ 500 บาท นั่งได้ประมาณ 10 คน
ออกจากบ้านอีต่องไปไม่ไกลมากนัก มีแหล่งท่องเที่ยวอย่าง “น้ำตกจ๊อกกะดิ่น” สามารถขับรถเข้าไปยังลานจอด แล้วเดินต่อไปประมาณ 300 เมตร ผ่านทางเดินภายในป่า เมื่อถึงสะพานไม้ข้ามลำธาร ก็จะพบกับโถงน้ำตกกลางหุบเขากับแอ่งน้ำเบื้องล่างที่ใสแจ๋ว
ม่านน้ำสีขาวที่ไหลลงออกมาจากซอกหินบนผาใหญ่ กระทบผืนน้ำสีมรกตเบื้องล่าง เป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของการมาเยือนปิล็อก แม้จะเป็นน้ำตกขนาดเล็ก แต่ก็มีความโดดเด่น ไม่ว่าใครที่มาเยือนบ้านอีต่องก็ไม่พลาดการแวะเข้าชมน้ำตกแห่งนี้
เดิมทีน้ำตกแห่งนี้เรียกว่า “ก๊อกกระด่าน” คำว่า “จ๊อก” หรือ “ก๊อก” หมายถึง หิน ส่วนคำว่า “กระดิ่น” หรือ “กระด่าน” หมายถึง น้ำตก รวมกันจึงหมายถึงน้ำตกที่ไหลผ่านซอกหินผา มีแหล่งกำเนิดเป็นน้ำที่ผุดขึ้นจากภูเขาอีปู่ ตั้งอยู่ในพื้นที่เหมืองแร่ทังสเตน แอ่งน้ำตกจึงมีสีฟ้าคราม เที่ยวชมได้ตลอดทั้งปี