ทริปทุเรียน
เรื่อง/ภาพ ปาณี ชีวาภาคย์
และแล้วชาวทุเรียนเลิฟเวอร์ก็นัดรวมพลชวนกันไป กินทุเรียน ที่ภาคอีสาน แวะสวนโน้นชิมสวนนี้ อย่างมีความสุข โดยมีจุดหมายอยูที่…
ทุเรียนดินภูเขาไฟ ที่ ศรีสะเกษ รสครีมมี่หวานมัน เป็นหนึ่งในสินค้าเกษตรยอดฮิตที่เพิ่งจะเปิดตัวมาได้ไม่กี่ปีนี่เอง ด้วยแรงโปรโมทของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยร่วมกับจังหวัด นำของดีเมืองดอกลำดวนมาโชว์ให้ชาวโลกให้ลิ้มลองทุเรียนรสชาติแปลกใหม่แห่งเดียวในโลก ทุเรียนดินภูเขาไฟจึงสร้างกระแสแรงพอ ๆ กับ ทุเรียนหลงลับแล ของอุตรดิตถ์
One day trip ลุยถึงถิ่นกินทุเรียน เส้นทางที่สะดวกรวดเร็วที่สุดคือจาก กทม.นั่งเครื่องบินไปลงที่อุบล แล้วนั่งรถไปอีก 60 กม.ก็ถึงจุดหมายปลายทาง ( ศรีสะเกษไม่มีสนามบินค่ะ) แต่ถ้ามากันหลายคนแนะนำให้เช่ารถตู้ไปจะเร็วกว่านั่งรถไฟค่ะ ขอแนะนำว่าต้องเข้าไปสวนแต่เช้าหน่อย จะได้มีเวลาแวะชิมได้หลาย ๆ สวน โดยเฉพาะช่วงหน้าทุเรียนจะมีคนกรุงเทพและจังหวัดใกล้เคียงเหมารถตู้มาชิมถึงสวนวันละหลายร้อยคัน
ที่สำคัญทุกเรียนภูเขาไฟจะปลูกได้แค่ 3 อำเภอเท่านั้นคือ กันทรลักษณ์ ขุนหาญและ ศรีรัตนะ อำเภออื่นก็ปลูกไม่ได้ ทั้งนี้เพราะ 3 อำเภอนี้อยู่ในเขต ภูดินแดง คือดินร่วนปนทราย ซึ่งเป็นแนวภูเขาไฟเก่ามีพื้นที่กว้างขวาง อยู่ลึกเข้ามาจากแนวเทือกเขาพนมดง แต่เดิมปลูกได้แค่ข้าวโพด มันสำปะหลัง และกระเทียม แต่เมื่อนำต้นทุเรียนจากจันทบุรีมาปลูกในพื้นที่ดินภูเขาไฟ รสชาติทุเรียนที่ได้จึงแตกต่างจากจันทบุรีซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดเดิม คือเนื้อแห้งหนา ลักษณะเนื้อไม่เหนียว กรอบนอกนุ่มใน รสหวานมันมากกว่าปกติ แต่กลิ่นไม่แรง จึงเป็นที่ถูกใจของเหล่าทุเรียนเลิฟเวอร์เป็นอันมาก
ชาวสวนเล่าให้ฟังว่าทุเรียนภูเขาไฟนี้ได้กิ่งตอนทุเรียนหมอนทองมาจากจันทบุรีเมื่อ 20 กว่าปีก่อน โดยก่อนหน้านั้นก็ไปตระเวนนำกิ่งตอนทุเรียนจากหลายแหล่งมาปลูก ทั้งนนทบุรี ภาคตะวันออก และทางใต้ แต่รสชาติไม่ดีเท่ากิ่งตอนจากจันทบุรี นอกจากกิ่งทุเรียนแล้ว ชาวสวนยังนำต้นเงาะ มังคุด สละ กระท้อน มาปลูกด้วย ดังนั้นตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนเป็นต้นไป ใครไปเที่ยวศรีสะเกษอาจจะนึกว่าหลงไปเมืองจันทบุรี เพราะมีผลไม้จันทบุรีวางขายทุกอำเภอ
จุดหมายแรกของทัวร์ (กิน) ทุเรียน คืออำเภอกัณทรลักษณ์และอำเภอศรีรัตนะซึ่งมีพื้นที่ติดกัน ขับเข้าสวนไปเรื่อย ๆ ก็สะดุดตากับสวนแรก ชื่อ สวนทุเรียนแม่สำเนียง บ้านซำตารมย์ ( โทร.09 6103 5450) ด้านหน้าสวนสร้างเป็นเพิงไม้ไผ่เล็ก ๆ โดยมีทุเรียนหมอนทองกองวางไว้หลายกอง หลานสาวเจ้าของสวนนั่งยิ้มแย้มอยู่หน้าร้าน คอยทักทายลูกค้าที่ขับรถผ่านไปมา เธอเล่าให้ฟังว่าสวนของเธอเพิ่งมาปลูกทุเรียนเมื่อไม่นานมานี้ โดยมีบริษัทซีพีคอยแนะนำในการดูแลตั้งแต่การปลูกการให้ปุ๋ยการดูแลจนถึงเก็บผลและรับซื้อด้วย
ได้ความรู้ใหม่ว่าทุเรียนยุคนี้ไม่ต้องรอให้ต้นโตถึง 10 ปีค่อยออกผลเหมือนเมื่อก่อนแล้ว เพราะวิทยาการก้าวหน้าจึงสามารถบังคับให้ทุเรียนออกผลภายใน 5 ปี และต้นก็ไม่สูงเป็น 10 เมตร เหมือนทุเรียนเมืองนนทบุรี และมีอีกเรื่องที่อยากแนะนำคือก่อนไปควรนัดเจ้าของสวนไว้ก่อน เพื่อเขาจะคัดทุเรียนเก็บไว้ให้ตามสเปคที่เราชอบ ถ้าไม่นัดอาจจะต้องไปเสี่ยงโชค เพราะบางสวนอาจจะเหลือทุเรียนตกเกรดคือลูกเล็กหรือไม่สวยมาขายก็ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ทุกสวนจะขายราคาหน้าสวนเท่ากันหมดคือกิโลละ 100 บาท
โชคดีที่วันนั้นสวนแม่สำเนียง เพิ่งเก็บทุเรียนหมอนทองคัดลูกใหญ่มาพอดี ทำให้การชิมทุเรียนภูเขาไปลูกแรกของพวกเต็มไปด้วยความหวัง พวกเราเลือกทุเรียนลูกขนาด 3 โลกว่า ควรเลือกลูกกลมเพื่อให้ได้พูใหญ่เต็มไม้เต็มมือ แกะออกมาปรากฏว่าความสุกกำลังกินมาก กัดไปคำแรกรสหวานมันแซงหน้าขึ้นมาก่อนเลย สังเกตว่าทุเรียนของศรีสะเกษจะมีรสมันแบบที่เรียกว่า “ครีมมี่” มากกว่าทุกจังหวัด แต่กลิ่นไม่รุนแรง กลายเป็นข้อดีที่เวลาเรอแล้วกลิ่นจะไม่รบกวนคนรอบข้าง…
ทุเรียนหมอนทอง 3 โลกว่า อร่อยจนหมดลงอย่างรวดเร็วด้วยฝีมือ 5 สาวที่จกกันไม่หยุด จนกลายเป็น “รักแรกกัด” กับทุเรียนหมอนทองภูเขาไฟเสียแล้ว ก็เลยเลือกหมอนทองอีกลูกเพื่อหิ้วกลับไปกินกัน โดยให้แม่ค้าเลือกให้สุกทันกินพรุ่งนี้หลังกินข้าวเย็น
ปลื้มปริ่มกับสวนแรกไปแล้ว จากนั้นล้อหมุนเดินหน้าไปต่อที่ สวนทศพล ซึ่งเป็นสวนทุเรียนขนาดใหญ่ 30 ไร่ ชื่อดังระดับอำเภอ อยู่ในกลุ่มท่องเที่ยวเกษตร บ้านซำตารมย์ ต.ตะกาจ อ.กัณทรลักษณ์ จึงมีลูกค้าเหมารถทัวร์แวะมาชิมหลายคน ดูคึกคักวุ่นวายพอสมควร สวนนี้นอกจากขายหน้าสวนแล้ว ยังส่งออกไปขายต่างประเทศด้วย
แต่รอบนี้พวกเราไม่ค่อยมีโชคเพราะคุณทศพลเก็บทุเรียนคัดไว้ให้ลูกค้าทัวร์หมดแล้ว จึงเหลือหมอนทองตกเกรดลูกเล็ก ๆ อยู่ 2 เข่งให้พวกเราเลือกชิม ราคาก็ยืนที่กิโลกรัมละ 100 บาท แม้ลูกจะเล็กแต่ไหน ๆ ก็มาถึงสวนชื่อดังของอำเภอแล้วก็ต้องชิมสักหน่อยว่าอร่อยแค่ไหน เลือกมาได้ 2 ลูก น้ำหนักเกือบ 3 กิโล แกะชิมกันเดี๋ยวนั้นเลย รสชาติก็หวานอร่อยดี ขนาดลูกเล็กแต่เนื้อหนาเม็ดลีบตามสายพันธุ์ของทุเรียนศรีสะเกษของแท้
สวนทศพลนอกจากจะขายทุเรียนสดแล้ว ยังแปรรูปทุเรียนเป็นทุเรียนกวนกิโลละ 600 บาท และทุเรียนทอดกรอบโลละะ 1,200 บาท ให้ลูกค้าซื้อติดมือเป็นของฝากกลับบ้านอีกด้วย
เมื่อตระเวนกินไปแค่ 2 สวน เวลาก็คล้อยไปถึงบ่ายสอง ท้องร้องหิวข้าวแล้ว มื้อกลางวันวันนี้พวกเรามีจุดหมายปลายทางที่ร้าน ครัว…บ้านลี ซึ่งเราโทรสั่งจองไว้ล่วงหน้าแล้ว ( 288 หมู่ที่ 14 ต.หนองหญ้าลาด อ.กัณทรลักษณ์ โทร.09 8956 2497) เป็นร้านระหว่างเส้นทางที่จะเดินทางต่อไปยังอำเภอขุนด่าน สถานที่ซึ่งเราเลือกปิดทริปชิมทุเรียนภูเขาไฟในวันนี้
ไปถึงหน้าร้านทุกคนร้องออกมาพร้อมกันเลยว่าร้านสวย แม้จะเป็นตึกแถวแต่ก็จัดสวนได้น่ารักด้วยต้นไม้สีเขียวร่มรื่น คุณทิพวัลย์ ลีธีระประเสริฐ เจ้าของร้านคนสวยออกมาต้อนรับด้วยอัธยาศัยอันดีงาม อาหารส่วนหนึ่งเตรียมไว้รอลูกค้าที่หิวโหยอย่างเรา ส่วนมากเป็นอาหารเวียดนามที่กินง่าย ๆ เรียกน้ำย่อย อาทิ ข้าวเกรียบปากหม้อญวนไส้หมูกุ้ง ยกมาแบบร้อนกรุ่นโรยหน้าด้วยหอมเจียวกรอบ และ หมูยอ เสิร์ฟพร้อมน้ำจิ้มเปรี้ยว ๆ หวาน ๆ ถัดมาเป็นเมนู ข้าวเกรียบงาทรงเครื่อง เป็นสลัดผักสดราดมายองเนสใส่มาในแผ่นข้าวเกรียบปากหม้อแผ่นใหญ่มาก ซึ่งทางร้านจะทำข้าวเกรียบแผ่นโตเอง สวยงามและอร่อยถูกปากจริง ๆ ออเดิร์ฟ 2 จานนี้หมดอย่างรวดเร็ว
ส่วนอาหารหลักที่เราสั่งได้แก่ แกงเลียงกุ้งสด รสชาติเผ็ดร้อนด้วยพริกไทย ปลาทับทิมกรอบทอดน้ำปลา ใช้ปลาทับทิมตัวใหญ่แล่เอาแต่เนื้อไปทอดให้กอรบหวานหอมจนไม่มีกลิ่นโคลนหลงเหลือเลย ส่วนน้ำปลาที่ราดก็หอมเค็มปะแล่มกำลังอร่อย อีกจานคือ น้ำพริกกะปิ ผักสด ชะอมทอดและปลาทูตัวใหญ่ ฝีมือตำน้ำพริกรสชาติดีมาก ความจริงอาหารร้านนี้มีเมนูเยอะมาก ทั้งไทย จีน ฝรั่งและเวียดนาม สนนราคาก็ไม่แพง ราคาเริ่มต้นที่ 50 จนถึง 200 กว่าบาท
กินอิ่มแล้วค่อยถามไถ่เจ้าของร้าน จึงทราบว่าคุณทิพวัลย์เป็นเจ้าของร้านอาหารตะกร้าแดง ที่ตลาดมองบาเช่ กรุงเทพค่ะ มิน่าทำอาหารได้ถูกปากคนกรุงเทพอย่างพวกเรามาก
หลังจากอิ่มเอมกับมื้อเที่ยงแล้ว ทัวร์ตะลุยชิมทุเรียนก็มุ่งหน้าสู่อำเภอขุนหาญซึ่งใช้เวลานานพอสมควร จุดหมายปลายทางคือ สวนพ่อวรรณา บ้านซำขี้เหล็ก (โทร.08 1790 6564) สวนนี้เราโทรติดต่อไปก่อนว่าจะเข้าไปซื้อทุเรียน สวนพ่อวรรณาเป็นสวนขนาดใหญ่ ปลูกทั้งทุเรียนหมอน ชะนี ก้านยาว พวงมณี ยังมีเงาะ มังคุด กระท้อน ชมพู่มเหมี่ยว โดยมีคุณวรรณ ลูกสะใภ้เจ้าของสวนมาคอยต้อนรับ และโชคดีที่มีโอกาสได้เดินชมสวนด้วยอย่างมีความสุข
สวนพ่อวรรณา เริ่มปลูกทุเรียนมาเมื่อ 40 ปีก่อน โดยนำพันธุ์มาจากจันทบุรี คุณวรรณบอกว่าทุเรียนศรีสะเกษเพิ่งมาเป็นที่นิยมเมื่อ 2 – 3 ปีนี้เอง โดยทางจังหวัดกับ ททท.โปรโมทว่าเป็นทุเรียนดินภูเขาไฟ จึงมีคนนอกพื้นที่แห่มาเที่ยวชิมตามสวนกัน แต่ปกติแล้วบริษัทซีพีจะมาเหมาตามสวนเพื่อส่งออกไปประเทศจีน
คุณวรรณพาพวกเราชมสวนซึ่งกว้างมาก ทุเรียนของศรีสะเกษต้นไม่สูงมาก แต่กิ่งจะยื่นออกมากยาวมาก ถ้าทุเรียนดก ๆ ทุกกิ่งจะมีทุเรียนห้อยเกือบ 10 ลูก พอดีมีทุเรียนชะนีสุกคาต้น เจ้าของสวนเลยปอกให้ชิมใต้ต้นได้บรรยากาศดีมาก เนื้อสีเหลืองจัด รสหวาน ส่วนกลิ่นไม่แรงเหมือนชะนีทั่วไป นี่คือข้อดีของการมาตะลุยชิมทุเรียนถึงในสวน จะได้ทั้งเห็นต้นทุเรียนของจริง แล้วยังได้ชิมทุเรียนใต้ต้นทุเรียนอีก ดีงามขนาดไหน
จากนั้นก็แวะไปเลือกทุเรียนในบ้านซึ่งตัดเก็บไว้เป็นเข่ง ๆ มาสวนนี้ได้ความรู้เพิ่มเติมว่าเดี๋ยวนี้ชาวสวนศรีสะเกษขายทุเรียนบนโซเชียลมีเดียแล้ว และส่งทุเรียนตามออร์เดอร์ลูกค้าไปทั่วราชอาณาจักร แถมทุเรียนทุกลูกติดป้ายรับประกันคุณภาพโดยกลุ่มผู้ปลูกทุเรียนและสามารถตรวจสอบได้จาก QR Code อีกด้วย ทันสมัยจริง ๆ
พวกเราจึงแห่กันซื้อทุเรียนคนละหลายลูกให้ไปส่งถึงบ้านที่กรุงเทพ ซึ่งสามารถเลือกว่าจะกินทุเรียนลูกไหนให้สุกวันไหน แล้วแพ็คใส่กล่องขนาดใหญ่ ส่งทางไปรษณีย์ไปถึงบ้านเลย ไม่ต้องหอบหิ้วขึ้นเครื่องบิน ( ซึ่งไม่อนุญาตให้นำทุเรียนขึ้นเครื่องอยู่แล้ว) สนนราคาหน้าสวนกิโลละ 100 บาท ทุเรียนส่งถึงบ้านราคาพร้อมค่าส่งกิโลละ 120 บาท
คุณวรรณบอกว่า สวนนี้จะมีผลผลิตทุเรียนให้ชิมกันตั้งแต่เดือนมิถุนายนไปจนถึงเดือนสิงหาคม ถ้าปีนี้ใครพลาด ปีหน้าเหล่าทุเรียนเลิฟเวอร์ จัดโปรแกรมเลย ทัวร์ทุเรียน อร่อย สนุก หวานมัน …ถึงจะอ้วนก็ช่างมัน !!