ตำนานอันน่าสะพรึงใต้ความงดงาม
ตำนานหรือเรื่องราวที่เล่าต่อกันมา อาจจะเป็นหนึ่งในสิ่งที่ถูกกล่าวถึงเกี่ยวกับสถานที่แห่งนี้ แต่หากได้ประจักษ์โดยสายตาแล้วจะพบว่า นี่คือสถาปัตยกรรมที่สวยงามแปลกตา เหมาะที่จะมาเยือนสักครั้ง
คุ้มเจ้าหลวง ต.ในเวียง อ.เมือง จ.แพร่ สถาปัตยกรรมที่โดดเด่นจากโทนทีขาวเขียวดูชื่นตา ชื่อของ “คุ้มเจ้าหลวง” ก็มาจากคำที่ชาวบ้านใช้เรียกขาน บ้านของเจ้าผู้ครองเมืองแพร่องค์สุดท้าย นั่นคือ เจ้าพิริยเทพวงศ์อุดรฯ หรือพระยาพิริยวิไชย)
ลักษณะของคุ้มเจ้าหลวง มีรูปทรงแบบสถาปัตยกรรมไทยผสมยุโรป ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยราชกาลที่ 5 ยุคต้น หลังคามุงด้วยไม้เรียกว่า “ไม้แป้นเกล็ด” ไม่มีหน้าจั่วเป็นแบบหลังคาเรือนปั้นหยามีมุขสี่เหลี่ยมยื่นออกมา ด้านหน้าของตัวอาคารหลังคามุขมีรูปทรงสามเหลี่ยมทั้งปั้นลม และ ชายคาน้ำรอบตัวอาคารประดับด้วยไม้แกะ ฉลุสลักลวดลายอย่าง สวยงาม โดยใช้ช่างชาวจีนที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้นมุขด้านหน้าตัว
แม้จะผ่านกาลเวลามาเนิ่นนานกว่า 100 ปี และคุ้มแห่งนี้ก็ได้รับการดูแลให้ยังคงความงดงามโดดเด่นอยู่เสมอ และถือเป็นความภาคภูมิใจของชาวแพร่ เพราะคุ้มแห่งนี้ เคยใช้เป็นที่ประทับแรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เมื่อคราวที่เสด็จมาเยี่ยมเยียนราษฎรจังหวัดแพร่ ในระหว่างวันที่ 15 – 17 มีนาคม พ.ศ. 2501
อีกทั้งยังได้รับพระราชทาน รางวัล จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีให้เป็นสถาปัตยกรรมดีเด่นประเภท อาคารสถาบันและสาธารณะ ซึ่งภายในก็จะมีแท่นบรรทมของพระองค์รวมอยู่ด้านใน
ในอีกมุมหนึ่ง คุ้มเจ้าหลวง ก็มีความแปลกแต่เรื่องราวลี้ลับเล่าขานต่อกันมา เพราะในอดีต บริเวณใต้ถุนเคยเป็นที่คุมขังนักโทษ ผู้เฒ่าผู้แก่ที่ล่วงลับไปแล้ว ได้ทิ้งตำนานความน่าสะพรึงกลัวของภูตผีวิญญาณ อีกทั้งใต้ถุนของคุ้มแห่งนี้ก็ยังเคยเป็นสถานที่คุมขังทาสมาอย่างยาวนาน จนกระทั่งพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ประกาศ เลิกทาส คุกทาสแห่งนี้เลยกลายมาเป็นที่คุมขัง นักโทษทั่วไป ของเจ้าเมืองหรือข้าหลวงในสมัยต่อมา จนกระทั่งมีการสร้างเรือนจำเมืองแพร่ สถานที่แห่งนี้จึงเหลือไว้เพียงตำนานและเรื่องกล่าวขาน
เราได้ลองเข้าไปชมภายในห้องคุมบริเวณใต้ถุน มีคำแนะนำตามความเชื่อว่า ให้หันหลังเดินถอยหลังเข้าไป เพื่อไม่ให้เหมือนกับนักโทษหรือทาสที่เคยถูกคุมขัง บรรยากาศทึบๆ สลัวๆ แม้จะผ่านเรื่องราวมาเนิ่นนาน แต่ก็แอบจินตนาการถึงภาพในอดีตไม่ได้ ด้านบนของเพดานเตี้ยๆ คือบริเวณชั้น 1 ซึ่งเป็นห้องโถงจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้อดีต มีช่องเล็กๆ ที่เรียกว่า “ตูบผี” ช่องสี่เหลี่ยมเล็กๆ ที่เอาไว้หย่อนอาหารให้นักโทษด้วย อยู่ในนี้เพียงชั่วครู่ ก็ต้องรีบออกมา แน่นอนว่าต้องเดินถอยหลังออกไปเช่นเคย
เรื่องราวแปลกๆ ของคุ้มเจ้าหลวงยังไม่หมดแค่นี้ เพราะในอาคารประกอบด้วยประตู 72 บาน ที่มีเรื่องความเชื่อกำกับอยู่ เช่น บานประตู “จั๊นคำขา” ที่เชื่อว่าผ่านแล้วจะสวยจะหล่อขึ้นกว่าเดิม เป็นประตูที่หลายคนใช้เวลาเดินวนไปวนมา จนเห็นได้ว่าพื้นมันวับ
สวยงาม แปลกตา แถมยังมาพร้อมเรื่องราวที่น่าค้นหา แต่ก็ทรงคุณค่าอย่างปฏิเสธไม่ได้ นี่คือ “คุ้มเจ้าหลวง” สถานที่ๆ เราอยากให้มาเยี่ยมชม หากมีโอกาสเราจะกลับไปใช้เวลากับความเชื่อของบานประตูมาฝากกันอีกครั้ง