“เมืองตาก” อยากให้หันมองกลับมา อย่าเบือนหน้าจากไป
อีกนิดเดียวเราก็คงพลาด หากไม่ฮึดอีกอึดใจ ที่ไม่ยอมหันหลังกลับไป
บางทีมันก็เหมือนมีอะไรบางอย่างรอคอยเราอยู่ จึงไม่ยอมหยุดมองหาแม้ว่าจะยังไม่เจอ
เพื่อนร่วมทางเดินย้อนกลับมา ผ่านพุ่มไทรที่ห้อยระโยงระยาง แม้จะมองจากไกลๆ เราก็เดาได้ว่า เขาแบกความผิดหวังก้อนใหญ่กลับมาด้วย
“ไม่มีอะไรเลยว่ะ เดินไปตั้งไกล ที่เห็นไม่ใช่แค่นั้นนะ มันลึกเข้าไปอีกไกลมาก” เขาร่ายอีกยาวว่า ที่นี่คงไม่ใช่วัดที่มีเจดีย์ที่บรรจุพระอังคารของบิดาและมารดาของพระเจ้าตาก ที่เรากำลังตามหา
เรายืนอยู่ที่ “วัดกลางสวนดอกไม้” ที่คนในเมืองตากบอกกับเราว่า “วัดสวนดอกไม้” (การเรียกชื่ออาจจะมีตัดทอนบ้างเป็นธรรมดา) มีเจดีย์ที่กล่าวถึงอยู่ และเราก็มาถึงแล้ว ด้วยความเงียบและไร้ผู้คนให้สอบถาม เราจึงใช้เวลาเดินหากันพักหนึ่ง จนได้พบว่า น่าจะไม่ใช่วัดแห่งนี้ หรือบางทีข้อมูลจากต้นทางของเราอาจจะผิดเสียแล้ว แต่จากการค้นหาเส้นทางในกูเกิล ข้อมูลมันก็เป็นไปในทำนองเดียวกันนี้
ไม่เป็นไร ถึงจะยังไม่เจอ เราก็จะหาต่อไป จริงๆ แล้ว วัดสวนดอกไม้ก็มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย จากความร่มรื่นภายในวัด และยังมีสถานที่สำคัญอย่างเจดีย์เสี่ยงทายบารมีของพระเจ้าตากอยู่อีกด้วย
เราเดินแบบไร้จุดหมายไปหน้าวัด บ้านเรือนในย่านนี้ดูเงียบเชียบ (เงียบไปหมด ทั้งบ้านทั้งวัด) หยุดที่บ้านหลังหนึ่ง มองลอดรั้วเข้าไปเห็นกลุ่มลุงๆ ป้าๆ กำลังจับกลุ่มสนทนากันอยู่ จึงไม่พลาดที่จะตะโกนเข้าไปถาม จนได้ความ
“ถ้าเป็นงูคงกัดไปแล้ว” ได้ยินคนแก่ๆ ชอบพูดแบบนั้น แค่หันหน้าเข้าวัดกลางสวนดอกไม้แล้วมองไปทางขวา ราว 50 เมตร สุดถนนจะเป็นทางแยกจะมีบันใดนาคเล็กๆ อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล ไม่ต้องรีรออะไรอีกแล้ว แม้ว่าจะมีทางให้รถขึ้นไป เราก็เลือกเดินขึ้นบันใดไป แต่ก็ไม่กี่ขั้นหรอกนะ
ขึ้นไปถึงเราก็พบกับโบสถ์ที่ตั้งตระหง่าน มีความงดงามและแปลกตา เพราะมีทางเข้าออกเพียงด้านเดียว ไม่มีหน้าต่างเปิดปิด แต่มีช่องลมทั้งสองด้าน รวมทั้งใบเสมาคู่ที่ตั้งอยู่ทั้ง 8 ทิศ บ่งบอกถึงความเป็นสถานที่พิเศษ แสดงถึงความเป็นวัดสำคัญหรือ “วัดหลวง” หรือวัดที่สร้างโดยพระมหากษัตริย์ วัดแห่งนี้ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา โบสถ์แห่งนี้จึงเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมให้ประชาชนเข้ามานั่งภาวนาสวดมนต์หรือนั่งสมาธิ
ที่ตั้งของเจดีย์บรรจุพระอังคารของพระบิดามารดาของสมเด็จพระเจ้าตาก ห่างออกไประยะหนึ่ง บริเวณด้านหน้าโบสถ์ คั่นด้วยพลับพลา ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงฐาน
เราใช้เวลาอยู่ที่กันนานพอสมควร ด้วยทำเลสูงที่สามารถมองเห็นทัศนียภาพของเมืองตากได้กว้างไกล ซึ่งสมเด็จพระเจ้าตากเคยมา ทำให้เพลิดเพลินอยู่ตรงจุดนี้กันนานเป็นพิเศษ ซึ่งปัจจุบันวัดแห่งนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ
และด้วยทำเลที่เป็นเนินเขา ครั้งหนึ่งจึงเคยเป็นสถานที่ตั้งทัพหลวงในยุคสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตัวโบสถ์ก็คือป้อมปราการที่ใช้ส่องดูข้าศึกศัตรู และเป็นสถานที่บำเพ็ญเพียรภาวนา ของสมเด็จพระเจ้าตากสินอีกด้วย
ได้รู้ว่าเดิมที ก่อนจะย้ายเข้าไปในเมือง ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็ตั้งอยู่ที่นี่ ซึ่งในช่วงเช้าเราได้แวะเข้าไปกราบสักการะมาแล้ว นับเป็นอีกจุดที่คนมาเยือนเมืองตากไม่พลาด บริเวณโดยรอบมีความร่มรื่นของสวนป่าขนาดเล็ก นับเป็นช่วงเวลาที่เย็นตาและชื่นใจยิ่งนัก
มุมมองในเมืองตากยังมีอะไรให้ค้นหาอีกมาก แค่ได้นั่งมองกลุ่มดอกหญ้าที่สะบัดพริ้วอยู่บนเนินดินกลางแม่น้ำปิง ก็เพลินจนลืมวันเวลา ถ้าได้ปักหลักกันที่โต๊ะริมแม่น้ำยิ่งชิลไปกันใหญ่
ยามเย็นของเมืองตาก มีสะพานข้ามฝั่งที่งดงามรออวดโฉม เป็นคนเดิมที่สวยกว่าเก่า เมื่อแสงแห่งวันจะลับลา สาดมาเป็นแสงสุดท้าย เป็นจุดตรึงสายตาท่านผู้ชมอย่างเราๆ นั่นคือ สะพานแขวน ชื่อเต็มๆ ว่า “สะพานแขวนสมโภช กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี” อำเภอเมือง จังหวัดตาก สร้างมาตั้งแต่ปี 2525
แนวสะพานที่ทอดข้ามฝั่งแม่น้ำปิงที่มีช่วงกว้างกว่าแม่ปิงในหลายๆ ที่ ทำให้มีระยะทางยาวเป็นพิเศษ การผ่านไปผ่านมาของผู้คน ดูช้ากว่าเข็มของวินาที คู่เพื่อน คู่รัก คู่แม่ลูก เลือกมุมของตัวเองได้อย่างน่าชวนชม ราว 400 เมตรที่ไม่สั้นไม่ยาวเกินไป ถ้าไปดูหนังมาเรื่องหนึ่งแล้วมาเล่าให้ฟังบนสะพานแห่งนี้
อย่างน้อยก็เล่าเรื่องเมืองตากอีกสักเรื่อง ให้เราได้กลับไปตามค้นหากันอีกครั้ง หวังว่าจะยังคงแรงฮึดเหมือนครั้งนี้