ประชันไอเดีย TravelTech ความท้าทายในโอกาสของการท่องเที่ยวไทย
มีประเด็นที่น่าขบคิดว่า ประเทศไทยเรามีรายได้หลักจากการท่องเที่ยว ในขณะที่เรารู้สึกว่า TravelTech มีผลอย่างมากต่อการเติบโตของการท่องเที่ยว แต่ธุรกิจ TravelTech ในเมืองไทย ยังมีสัดส่วนแค่ 0.3% ของโลก ซึ่งมีจำนวนของธุรกิจ TravelTech อยู่ประมาณ 2,039 ราย นั่นหมายความว่า ธุรกิจ TravelTech ที่มีบทบาทกับการท่องเที่ยวไทย ยังเป็นของต่างชาติ
นี่คือปัจจัยสนับสนุนหลักของการเติบโตของ travel tech startup ในยุคที่โลกดิจิทัลเข้ามาเปลี่ยนผันรูปแบบการทำธุรกิจ จึงทำให้เกิดโครงการที่น่าสนใจขึ้น นั่นคือโครงการ HackaTravel เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้ออกมาประชันเดียเจ๋งๆ เพื่อสร้างนวัตกรรมด้านการท่องเที่ยว
โดยล่าสุด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับ เทคมีทัวร์ (TakeMeTour) ในฐานะ TravelTech ที่พัฒนา Platform เว็บไซต์ในการบริการจองทริปส่วนตัวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและขยายไปในประเทศต่างๆ ในอาเซียน จัดงาน Create a New Era of Tourism in Thailand เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ด้วยกิจกรรมการแข่งขันพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลในรูปแบบ Hackathon ที่กำลังได้รับความนิยมทั่วโลก ภายใต้ชื่อโครงการ HackaTravel
ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่คิดธุรกิจนวัตกรรมใหม่ๆ ด้านการท่องเที่ยว และเข้ามาประชันไอเดียเจ๋งๆ ที่สามารถนำไปตั้งต้นพัฒนาเป็นนวัตกรรม/ธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์จริงๆ ได้ ชิงรางวัลสูงสุดกว่า 300,000 บาท พร้อมรับโอกาสดีๆ ในการสนับสนุนต่อยอดธุรกิจจากพันธมิตรต่างๆ ของโครงการ ได้แก่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank), บริษัท สิริ เวนเจอร์ส จำกัด (แสนสิริ) และ บริษัท วันทูวัน คอนแทคส์ จำกัด (มหาชน)
โดยมี ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวแสดงปาฐกถาเปิดงานในหัวข้อ “นวัตกรรมการท่องเที่ยว : โจทย์เก่าที่ต้องเล่าใหม่” โดยได้กล่าวถึงโอกาสและความท้าทายของธุรกิจ TravelTech ที่จูงใจให้นักลงทุนต่างประเทศหันมาพัฒนาธุรกิจในประเทศไทยมากขึ้น โดยอ้างอิงจากการจัดอันดับของ WorldAtlast.com ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นอันดับ 4 และมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเป็นอันดับ 10 ของโลก ซึ่งเชื่อว่าศักยภาพการท่องเที่ยวของไทยจะทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเติบโตไปอย่างต่อเนื่อง
สิ่งที่ผู้ว่า ททท. แนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ด้านการท่องเที่ยว ประกอบด้วย 3 ด้าน คือ รู้จัก เข้าใจ และ ดูแล โดยต้องทำให้นวัตกรรมเป็นที่รู้จักต่อกลุ่มเป้ามาย มีความเข้าใจนักท่องเที่ยวในแต่ละกลุ่ม อาทิ Gen Y ที่ชอบเที่ยว ชอบแสดงออก กลุ่มครอบครัว ที่ต้องการความสะดวกสบาย หรือ กลุ่มผู้สูงอายุที่ต้องการความปลอดภัยสูง
“ในปี 2561 มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทย 38.3 ล้านคน แต่สิ่งที่เป็นความท้าทายคือ เรารู้แค่ว่าเขามาจากไหน แต่ไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร จะไปที่ไหน ดังนั้นนวัตกรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญในการทำตลาดพร้อมการดูแลนักท่องเที่ยวได้อย่างตรงจุดโดย ททท. เชื่อมั่นในศักยภาพของคนรุ่นใหม่ของไทยว่าในอนาคตจะสามารถเติบโตเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง ไม่แพ้ชาติใดในโลก” ผู้ว่าททท. กล่าว
ด้าน ดร. กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ในปัจจุบันทาง NIA มีโครงการต่างๆในการสนับสนุน Startup ด้าน Travel tech คือ โครงการ IDE to IPO รุ่นที่ 3 ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างองค์ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนวัตกรรม การพัฒนาธุรกิจการจัดการนวัตกรรมด้านการโรงแรมและการท่องเที่ยว การให้ทุนสนับสนุนด้านนวัตกรรมการท่องเที่ยว และการจัดทำ Accelerator ด้าน Travel Tech ที่อยู่ในแผนการดำเนินการปีหน้า
“การส่งเสริมคนรุ่นใหม่หรือการสร้างทรายเม็ดใหม่จากรั้วมหาวิทยาลัย ในโครงการ Startup Thailand League และจากกิจกรรม Hackatravel ครั้งนี้ ก็จะเป็นการสร้าง Startup ด้าน Travel Tech ใหม่ๆให้แก่ประเทศไทย เพื่อเป็นนักรบทางเศรษฐกิจรุ่นใหม่มีส่วนช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไป” รองผอ.กล่าว
นายจีระวัฒน์ กุลทรัพย์อุดม Head of Ecosystem บริษัท สิริ เวนเจอร์ส จำกัด (SIRI VENTURES) หนึ่งในผู้สนับสนุนหลักโครงการ HackaTravel กล่าวว่า “แสนสิริ ในฐานะผู้นำของอสังหาริมทรัพย์ไทย ที่ให้ความสำคัญกับการส่งมอบไลฟ์ไตล์การใช้ชีวิต เราเล็งเห็นถึงแนวโน้มธุรกิจการท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงเดินหน้ารุกธุรกิจโรงแรมและแอปพลิเคชั่นด้านการท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ ตั้งแต่ โรงแรมเอสเคป หัวหินและเขาใหญ่ เครือโรงแรมเดอะสแตนดาร์ด (Standard Hotels) แบรนด์โรงแรมระดับโลกที่เตรียมเปิดสาขาใหม่รวมเป็น 20 สาขาทั่วโลก และ One Night แอปพลิเคชั่นสำหรับการจองโรงแรมในวันเดียวกับการเข้าพัก ดังนั้น การสนับสนุนในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสดี ที่แสนสิริได้มีส่วนร่วมในการเปิดเวทีให้กับคนรุ่นใหม่ได้แสดงความสามารถในการคิดค้นนวัตกรรมที่นำมาใช้ได้จริง เพื่อยกระดับธุรกิจการท่องเที่ยวไทยในยุคดิจิทัล รวมทั้งนำโซลูชั่นด้าน Smart Data มาประยุกต์ใช้ในธุรกิจด้าน Hospitality ของแสนสิริได้อย่างเต็มศักยภาพ”
ด้านนายนพพล อนุกูลวิทยา และ นายอมรเชษฐ์ จินดาอภิรักษ์ ผู้ร่วมก่อตั้งเทคมีทัวร์ ในฐานะผู้จัดงาน Create a New Era of Tourism in Thailand และโครงการ HackaTravel กล่าวว่า ปัจจุบันทิศทางของอุตสาหกรรมต่างๆ ของโลกได้ถูกเปลี่ยนแปลงตั้งแต่โฉมหน้า รูปแบบ ผู้เล่น ไปจนถึงโครงสร้างของอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผลจากการเข้ามาของเทคโนโลยีต่างๆ การ Digitalization ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง จึงทำเกิดธุรกิจใหม่ๆ ขณะที่ธุรกิจบางอย่างล้มหายไป และอีกจำนวนมากต้องเร่งปรับตัว อุตสาหกรรมท่องเที่ยวซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย ก็เช่นเดียวกันที่กำลังพบกับความท้าทายครั้งใหญ่นี้
“โครงการ HackaTravel มีจำนวนผู้สมัครเข้าร่วมแข่งขันทั้งหมด 268 คน ประกอบด้วยนิสิต นักศึกษาที่กำลังศึกษาด้าน software developer และบุคคลทั่วไปที่ทำงานเป็นนักพัฒนาหรือ developer เป็นส่วนใหญ่ หลังจากปิดรับสมัครทางโครงการฯ ได้มีการคัดเลือกรอบแรก โดยมีผู้ผ่านการคัดเลือกทั้งหมด 90 คน โดยคัดเลือกจากความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีเป็น software developer เป็นนักการตลาดออนไลน์ที่มีความสามารถทางธุรกิจหรือผู้ที่เชี่ยวชาญเรื่องการท่องเที่ยวโดยเฉพาะ ซึ่งการคัดเลือกทางกรรมการดูจากส่วนผสมของผู้ที่เข้าร่วมโดยให้มีนักพัฒนากับผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจการท่องเที่ยวอยู่ในอัตราส่วนที่สามารถแข่งขัน Hackathon ได้ ด้วยเป้าหมายของโครงการที่ต้องการสนับสนุนให้เกิดไอเดียนวัตกรรมการท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่สามารถ “ทำได้จริง” จึงต้องการคัดผู้เข้าร่วมให้มีความหลากหลายทางทักษะและมีประสบการณ์ด้านการท่องเที่ยวให้มารวมกัน
สำหรับการแข่งขัน Hackathon จะใช้ระยะเวลาทั้งหมด 2 วันเต็ม คือในวันที่ 27-28 เมษายน 2562 ณ ศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub) การแข่งขันจะแบ่งทีม ทีมละ 3-6 คน โดยภายในกิจกรรม Hackathon จะมีช่วงพิเศษ ให้ผู้ที่สมัครเข้ามาแบบทีมแล้ว สามารถเปลี่ยนใจแยกทีมได้เช่นกันซึ่งเป็นสีสันของการแข่ง เพราะในโลกของความเป็นจริงก็มีโอกาสที่ทีมจะแตกได้เช่นกัน
การแข่งขันได้กำหนดโจทย์ไว้ 4 เรื่อง ดังนี้ 1. Emerging Destination Tourismการท่องเที่ยวเมืองรอง 2. Tools For Tourism Businessเครื่องมือทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการท่องเที่ยว 3. Enabling Seamless Travel Experienceเครื่องมืออำนวยความสะดวกในด้านการท่องเที่ยว 4. Smart Data การเก็บและประยุกต์การใช้ข้อมูลด้านการท่องเที่ยว โดยแต่ละทีมสามารถเลือกโจทย์ได้ตามความถนัดของตัวเอง
“ในการแข่งขันโครงการ HackaTravel ครั้งนี้ นอกจากผู้เข้าแข่งขันจะได้รับความรู้และคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในแวดวงเทคโนโลยีและแวดวงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวตลอดทั้งสองวัน ยังมีเงินรางวัลมูลค่าสูงสุด 300,000 บาทมอบให้กับผู้ชนะการแข่งขันจำนวน 3 รางวัลดังนี้ ทีมชนะเลิศรับรางวัลมูลค่า 150,000 บาท ทีมรองชนะเลิศอันดับ 1 รับรางวัลมูลค่า 100,000 บาท และทีมรองชนะเลิศอันดับ 2 รับรางวัลมูลค่า 50,000 บาท นอกจากผู้ชนะการแข่งขันยังจะได้รับโอกาสดีๆ ในการสนับสนุนพัฒนาต่อยอดให้เป็นธุรกิจจากพันธมิตรต่างๆ ของโครงการอีกด้วย” ผู้จัดงานกล่าว