พระปิดตาทรงเทริดมโนราห์ ศิลป์ศรัทธาแดนใต้
ก่อนอื่นต้องบอกว่า “มโนราห์” “มโนรา” หรือ “โนรา” เขียนแบบไหนก็ไม่ถือว่าผิด อาจจะเรียกว่าเป็นชื่อทางการ กับชื่อที่ชาวบ้านเรียกขานกันก็ได้ หลายคนคงรู้จักมโนราห์เป็นอย่างดี เหมือนกับที่รู้จักฟ้อนของทางเหนือ เซิ้งของอีสาน หรือลำตัด ลิเกของภาคกลาง ซึ่งศิลปะแต่ละแขนงย่อมมีครูผู้ถ่ายทอดวิชา หากเป็นมโนราห์ ก็จะเคารพนับถือกันในนาม “ครูหมอโนรา” “ครูหมอโนรา” เป็นความเชื่อของคนในท้องถิ่นภาคใต้ ที่สืบเชื้อสายมาจากมโนราห์หรือจะเรียกว่าเป็นบรรพบุรุษของโนรา บางบ้านจึงเรียกว่า “ครูหมอตายาย” ความเชื่ออีกอย่างคือ โนราต้องมีผู้สืบทอด ในตระกูลหนึ่งก็จะมีผู้ที่รับหน้าที่นี้ไป ซึ่งส่วนใหญ่มโนราห์จะอยู่ในสายเลือด จะด้วยความคุ้นเคยหรืออย่างไรก็ไม่อาจทราบได้ แต่ถ้าเป็นลูกหลานโนราแล้ว ต้องมีสักคนหนึ่งที่สามารถรำมโนราห์ได้โดยอัตโนมัติ หรือจะเรียนรู้ก็ใช้เวลาเพียงไม่นาน แต่ส่วนใหญ่ก็จะฝึกกันตั้งแต่เด็ก ๆ เพราะการแสดงแขนงนี้จำเป็นต้องใช้ร่างกายที่มีความยืดหยุ่นสูง บ้านไหนมีเทริดที่รุ่นตารุ่นยายเคยสวมตอนแสดงมโนราห์ ก็จะนำมาวางบนหิ้ง เมื่อถึงเวลาก็จะมีพิธีไหว้ครูหมอโนรากัน จัดกันยิ่งใหญ่เหมือนงานมหรสพ มีพิธีต่าง ๆ รวมทั้งการแสดง เลี้ยงข้าวเลี้ยงน้ำกันตลอดงาน “มโนราห์” เป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านภาคใต้อันโดดเด่น เป็นมรดกทางวัฒนธรรมสืบทอดต่อกันมาเป็นเวลายาวนาน ปัจจุบันได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้จากยูเนสโก บรมครูโนราทางภาคใต้ที่มีชื่อเสียง