คลายร้อนกับ “ข้าวแช่” ตำรับไทยโบราณ
เมื่อถึงหน้าร้อน นอกจากจะมีประเพณีสงกรานต์ เทศกาลสาดน้ำให้คลายร้อนแล้ว ยังมีมนต์เสน่ห์คลายร้อนอีกอย่างคือ “ข้าวแช่” ตำรับอาหารโบราณ ที่ทำให้หน้าร้อนในเดือนเมษายนผ่อนคลายหายเป็นปลิดทิ้งได้ดีทีเดียว ข้าวแช่ เป็นข้าวสุกขัดยางแช่น้ำเย็นซึ่งมักเป็นน้ำดอกไม้ แล้วกินกับเครื่องเคียง เช่น ลูกกะปิ พริกหยวกสอดไส้ เนื้อเค็มฝอยผัดหวาน หัวหอมสอดไส้ ผักกาดเค็มผัดหวาน ปลาแห้ง และเครื่องผัดหวานต่าง ๆ นิยมรับประทานในหน้าร้อน ปัจจุบันอาจใส่น้ำแข็งในข้าวแช่ด้วย เชื่อกันว่า ข้าวแช่เดิมเป็นอาหารพื้นบ้านของชาวมอญ โดยชาวมอญจะเรียกว่า “เปิงด๊าดจ์” ซึ่ง “เปิง” แปลว่า“ข้าว” และ “ด๊าดจ์” แปลว่า “น้ำ” “เปิงด๊าดจ์” จึงมีความหมายว่า “ข้าวน้ำ” นิยมทำสังเวยเทวดาในตรุษสงกรานต์ ต่อมาชาววังนำไปปรับปรุงเรียกว่า “ข้าวแช่เสวย” หรือ “ข้าวแช่ชาววัง” เมื่อสิ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี พ.ศ. 2453 แล้ว ข้าวแช่ได้รับการเผยแพร่ออกไปนอกวังและเป็นที่นิยมอย่างยิ่ง ความอร่อยของข้าวแช่นอกจากความเย็น หวาน หอม ดับร้อนของข้าวแช่น้ำแล้ว เครื่องเคียงก็เป็นองค์ประกอบสำคัญในการเพิ่มความอร่อยให้กับข้าวแช่ เครื่องเคียงข้าวแช่ ลูกกะปิ ประกอบด้วยปลาช่อนย่าง, ตะไคร้, กระชาย, หัวหอม, กะปิ, หัวกะทิ