“คร่ำ” อัตลักษณ์แห่งสยาม
“คร่ำ” งานหัตถศิลป์ชั้นสูงที่หาชมได้ยาก และอาจจะอยู่ห่างไกลจากชีวิตประจำวันของคนทั้งไป จนทำให้หลายคน โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ ไม่รู้จักคร่ำ งาน “คร่ำ” เป็นการตกแต่งลวดลายบนพื้นโลหะประเภทเหล็กโดยใช้เครื่องมือสกัดให้เป็นลวดลายบนพื้นโลหะต่างชนิด เช่น เงิน ทอง นากลงไปแล้วขัด หรือที่ศัพท์ช่างเรียกว่า กวดผิวให้เรียบจะเกิดลวดลายจากสีของโลหะที่ต่างกัน ตามลวดลายที่สลักและฝังโลหะไว้ ลงบนผิวหน้าของเครื่องใช้ที่ทาด้วยเหล็ก หากใช้เส้นเงินฝังเรียก คร่ำเงิน หากใช้เส้นทองฝังเรียก คร่ำทอง หากใช้เส้นนากฝังเรียก คร่ำนาก โดยจะต้องทำให้ผิวเหล็กเกิดเป็นรอยที่ละเอียดด้วยการใช้เหล็กสกัดที่คมบางแต่แข็งแกร่งตีสับลายตัดกันไปมาบนผิวโลหะให้เกิดความขรุขระ จากนั้นจึงใช้เส้นทองหรือเส้นเงิน หรือเส้นนากตอกให้ติดเป็นลวดลายวิจิตรงดงามตามที่ต้องการ ประเภทเครื่องใช้ที่จะตกแต่งใช้วิธีคร่ำ ต้องเป็นของที่ทามาจากเหล็ก เช่น ตะบันหมาก กรรไกรหนีบหมาก หัวไม้เท้า กรรไกรตัดผม ไปจนถึงเครื่องราชูปโภค เครื่องเหล็กซึ่งนิยมตกแต่งลวดลายด้วย การคร่ำเงิน คร่ำทอง หรือคร่ำนาก มักเป็นเครื่องราชศัสตราวุธ เช่น พระแสงดาบ พระแสงหอก พระแสงง้าว