บ้านช่างศิลป์ ถิ่นเบญจรงค์
มีบางเรื่องราวในชีวิตที่จารึกด้วยสำนึกแห่งความทรงจำของหญิงสาวที่เดินทางมาอย่างยาวไกล เสียงที่สั่นเครือกับริ้วน้ำตาที่คลอเบ้า ฉายภาพความปลื้มปิติอย่างหาที่สุดไม่ได้ ทุกครั้งที่เอ่ยถึงความทรงจำ เมื่อครั้งที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินนำนักเรียนนายร้อย จปร. เข้ามาทัศนศึกษาดูงานเบญจรงค์ที่หมู่บ้านแห่งนี้ เมื่อปี 2552 ไม่ว่ารางวัลหรือความสำเร็จใด ก็หาเทียบเท่าความปลาบปลื้มในขณะนั้นได้ ย้อนไปในอดีต สาวน้อยเรียนจบเพียงชั้นประถมฯ 4 ในครอบครัวมีอาชีพทำไร่ไถนา ฐานะทางบ้านจึงไม่สู้ดีนัก พี่น้องสองสาวจึงพากันไปสมัครเป็นคนงานในโรงงานทำชามตราไก่ “เสถียรภาพ” นับเป็นโรงงานที่ใหญ่สุดในย่านอ้อมน้อยในสมัยนั้น เธอได้เรียนรู้ตั้งแต่ขั้นตอนง่ายๆ ฝึกฝนจนได้ทักษะวิชาเขียนลายเบญจรงค์ นับเป็นความโชคดีที่โชคร้ายหรืออย่างไร นานนับ 20 ปีในโรงงานเสถียรภาพ เมื่อถึงยุคเศรษฐกิจแย่ ในปี 2525 โรงงานเซรามิกต้องปิดตัวลง พนักงานต่างตกอยู่สถานะถูกลอยแพ โดยไม่สามารถถามหาความเป็นธรรมได้ เหตุการณ์ครั้งนั้นสร้างผลกระทบต่ออชีวิตของใครหลายคนจนเกิดการรวมตัวประท้วงหน้ารัฐสภา สาวรุ่นนาม “อุไร แตงเอี่ยม” และพี่สาว เป็นหนึ่งในพนักงานที่ต้องมานอนตากแดดเพื่อร้องขอความเป็นธรรมอยู่ตามท้องถนน เมื่อคำร้องไม่เป็นผลที่น่าพอใจ ก็ต้องก้มหน้ารับชะตากันต่อไป เพียงหัวใจที่ไม่เคยยอมแพ้ ทำให้เธอลุกขึ้นสู้อีกครั้ง