กระจูด-กระจ่าง
วันที่ลืมตาดูโลก ฉันอาจจะเป็นคนหนึ่งที่ได้นอนบนเสื่อกระจูด ป้าของฉันเรียกมันว่า “สาดจูด” ตามประสาคนใต้ที่ชอบรวบรัดตัดคำให้สั้นลง นั่นคงเป็นสิ่งแรกที่นึกถึงกระจูด แม้วันนี้เราเดินทางมาไกล และอาจจะห่างจากบ้านเกิด ห่างจากสาดจูด และห่างจากลุงป้าน้าอา แต่ความทรงจำยังไม่เคยเลือนหาย ภาพของกระจูดยังแจ่มชัด เช่นเดียวกับความผูกพันของคนในเครือญาติ เมื่อมีโอกาสตามติดชีวิตของกระจูดอีกครั้งจึงได้รู้ว่า กระจูดเองก็เดินทางไปไกลแล้วเช่นกัน กระจูดเป็นพืชตระกูลเดียวกับ “กก” จริงๆ แล้วเกิดขึ้นเป็นวัชพืชในที่น้ำขังตลอดเวลา ดังนั้นที่ที่กระจูดจะใช้ชีวิตอยู่ได้ก็ต้องเป็นแหล่งน้ำจืดที่ไม่เคยแห้งแล้ง รู้จักกันในนาม “ป่าพรุ” ซึ่งเป็นดินโคลนที่มีน้ำขังทั้งปี ดังนั้นใครที่สนใจปลูกกระจูดก็สามารถนำกระจูดไปปลูกไว้ในอ่างได้ กระจูดตามธรรมชาติของพื้นที่ในประเทศไทย มีอยู่ใน 5 จังหวัดทางภาคใต้เท่านั้น คือ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา นราธิวาส แต่ละพื้นที่ก็มีการสานกระจูดมานาน มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์และรูปแบบของตัวเอง สำหรับกระจูดที่พัทลุง ซึ่งเราได้เดินทางไปเจอมาล่าสุด จากการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า มีเรื่องราวที่ยาวนานมา เพราะในอดีตนิยมสานเป็นเสื่อและกระสอบใส่ข้าวสารและน้ำตาลเพื่อเป็นบรรณาการมานาน ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตกทอดมาจนกลายเป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน การเดินทางทำให้เราได้มาเจอกับ “วิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมกระจูดวรรณี” (Varni)