Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam erat volutpat. Ut wisi enim

Subscribe to our newsletter

Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam
[contact-form-7 id="9582" html_class="default"]

“เชื่อมให้เป็นเนื้อเดียวกันให้ได้” ก้าวต่อไปของ Phuket Sandbox

ใครที่มีโอกาสเดินทางไปยังจังหวัดที่มีมาตรการควบคุมสูงสุด โดยเฉพาะการเดินทางโดยเครื่องบิน จะพบว่าปัจจุบันยังพบขั้นตอนที่ซับซ้อน นอกจากมาตรการที่แตกต่างกันของแต่ละจังหวัดแล้ว แต่ละหน่วยงานยังมีภารกิจต่างกัน เอกสารสำคัญที่ใช้สำหรับการเดินทางยังคงแยกกันอยู่คนละที่ รวมทั้งบางจังหวัดมีแอปพลิเคชันแยกออกไปต่างหาก

ภายใต้มาตรการที่เคร่งครัดในการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 การเดินทางยังคงเป็นประเด็นที่อยู่ในการควบคุมอย่างเคร่งครัด สำหรับนักท่องเที่ยวไทยอาจจะต้องปรับตัวกับขั้นตอนที่ยุ่งยากขึ้น เช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งต้องพบกับมาตรการควบคุมที่เคร่งครัดยิ่งกว่า

โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox) เป็นโครงการนำร่องในการเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาภูเก็ตแบบมีเงื่อนไข นอกจากเอกสารการรับรองการฉีดวัคซีนแล้ว ยังต้องใช้ผลการตรวจคัดกรองโควิด-19 แบบ RT-PCR เท่านั้น รวมทั้งต้องมีการทำประกันโรคโควิด-19  มีระบบติดตามตัวผ่านแอปพลิเคชันหมอชนะ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ยังคงเป็นภาระของนักท่องเที่ยว ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจในการเดินทางเข้ามาในโครงการนี้

หลังจากการเปิดตัวโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox) หรือการเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ตแบบมีเงื่อนไข ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ทำให้ภาพรวมการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตเริ่มมีการขยับตัว ข้อมูล ณ วันที่ 27 กันยายน 2564 ระบุว่า โครงการดังกล่าวสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 2,330 ล้านบาท โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวสะสมถึงวันที่ 7 ตุลาคม 2564 จำนวน 43,026 คน

แม้ว่าผลของโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์จะเริ่มต้นได้สวย แต่ก็ยังมีหลายประเด็นที่ต้องทบทวน เพื่อให้โครงการนี้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และพร้อมสำหรับการขยายผลโมเดล “แซนด์บ็อกซ์” ไปจังหวัดอื่นต่อไป ขณะที่เสียงจากทางผู้ประกอบการท่องเที่ยวในภูเก็ต ก็ได้ตั้งเป้าหมายว่า ต้องการจำนวนนักท่องเที่ยวเที่ยวให้ได้ 10,000 คนต่อวัน จึงจะทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวในภูเก็ตยังยืนหยัดอยู่ได้ เนื่องจากก่อนสถานการณ์โควิด-19 ภูเก็ตมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 30,000-40,000 คนต่อวัน โดยหลังจากโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มกลับมาไม่ถึง 1,000 คนต่อวัน

กระทรวงดิจิทัลฯ โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ในการช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีให้กับการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ เช่น ระบบติดตามบุคคลโดยการจับใบหน้า, ระบบติดตามตัวหมอชนะ, Dash Board ที่ใช้สำหรับรายงานสถานการณ์ แจ้งเตือนในระบบ Phuket Tourism Sandbox, ระบบ Shaba Plus และระบบตรวจสอบนักท่องเที่ยวเพื่อใช้ในการกักตัว เป็นต้น

จากซ้าย นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายธรรมนูญ ศรีวรรธนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา นายปิยพงศ์ ชูวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เข้าร่วมการประชุม

นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมชี้แจงในที่ประชุม

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2564 นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้เดินทางลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.ภูเก็ต และเยี่ยมชมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการควบคุมดูแลนักท่องเที่ยว และการควบคุมโควิด ในโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ พร้อมเยี่ยมชมศูนย์ปฏิบัติการต่าง ๆ ที่เป็นการบูรณาการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อนำร่องขับเคลื่อนแผนการเปิดประเทศฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เริ่มจากภูเก็ต ก่อนใช้เป็นต้นแบบขยายผลสู่จังหวัดอื่น ๆ ที่มีความพร้อมต่อไป

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

หลังจากการประชุม รมว.ดีอีเอส ได้กล่าวถึงความสำเร็จของโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ พร้อมแนวทางการพัฒนาเพื่อขยายผลสู่จังหวัดอื่นต่อไป

ปลื้ม! ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เดินมาถูกทาง

“หลังจากได้รับรายงานจากผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และหน่วยงานต่าง ๆ ทำให้เกิดความมั่นใจได้ว่า เราเดินมาถูกทางแล้ว ตัวเลขต่าง ๆ ที่ได้รับ พบว่าโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ สามารถเดินหน้าต่อไปได้ และจะขยายผลไปยังจังหวัดข้างเคียง คือ พังงา และกระบี่ โดยจะนำเทคโนโลยีดิจิทัล และไอทีสมัยใหม่ มาใช้ในการติดตามตัวนักท่องเที่ยว และการควบคุมมาตรการต่าง ๆ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้สามารถให้ความมั่นใจกับทุกคนได้ว่า เราสามารถเปิดประเทศได้ตามนโยบายของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการเปิดประเทศภายใน 120 วัน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจประเทศไทยเดินหน้าต่อไปได้”

เล็งลดค่าใช้จ่ายตรวจคัดกรองโควิด-19

“วันนี้เรายังคงต้องระมัดระวัง ควบคุมมาตรการการเดินทางเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  นักเดินทางชาวต่างชาติที่เข้ามาเมืองไทย ยังต้องเอกสารรับรองผลการตรวจโรคโควิด-19  และเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ แต่สุดท้ายก็ต้องมีมาตรการผ่อนปรนมาตรการเหล่านี้ ซึ่งขึ้นอยู่กับการพิจารณาของทางจังหวัด ต้องหารือกันว่าจะผ่อนปรนมาตรการต่าง ๆ ได้อย่างไร

ที่สำคัญคือ การใช้ RT-PCR (Polymerase chain reaction) สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้าภูเก็ต ยังมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก หรือ 2,600 บาทต่อครั้ง รวม 2 ครั้ง เป็นเงิน 5,200 บาท นอกจากนั้นยังมีค่าประกันสุขภาพ ซึ่งถือเป็นภาระของนักท่องเที่ยว และอาจจะทำให้มีผลต่อการตัดสินใจไม่อยากมาเที่ยวเมืองไทย ในส่วนนี้จึงต้องมีการทบทวนว่า จะสามารถใช้ ATK (Antigen test kit) แทน RT-PCR ได้หรือไม่  เนื่องจาก ATK มีราคาที่ถูกกว่ามาก เพียง 100-200 บาทต่อครั้ง  ขณะที่ RT-PCR มีราคาแพงกว่ามาก และใช้เวลาในการทราบผลนานกว่าด้วย สิ่งเหล่านี้ถือเป็นภาระของนักท่องเที่ยว ดังนั้นจึงเป็นมาตรการที่ต้องนำเสนอกับทาง ศบค. ต่อไป”

เสนอจัดตั้ง Command Center เชื่อมโยงข้อมูลท่องเที่ยวทุกจังหวัด

“หากเราขยายผลโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ไปอีกหลายจังหวัด สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือ การเชื่อมโยงข้อมูลของแต่ละจังหวัดให้เป็นเนื้อเดียวกัน ต้องมี Command Center หรือศูนย์บัญชาการหลักที่คอยดูแลเรื่องการท่องเที่ยวในสถานการณ์โควิด-19 โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัล และไอซีทีเช้ามาใช้ในการเชื่อมโยง”

One Country One Platform รับก้าวต่อไปของ Sand Box

“ในระยะต่อไปวางเป้าหมายการเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานต่าง ๆ ในจังหวัดภูเก็ตเข้าด้วยกัน เพื่อเกิดประโยชน์ต่อประชาชนในจังหวัด ก่อนนำไปสู่การขับเคลื่อนภูเก็ตเมืองอัจฉริยะ (Phuket Smart City) จากการดำเนินโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ พบว่า โดยมาตรการไม่ได้มีปัญหามาก แต่จะเป็นเรื่องของเทคนิคมากกว่า เช่น การใช้ ATK แทน RT-PCR เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับนักท่องเที่ยว  รวมทั้งการเชื่อมโยงด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่ใช้มากยิ่งขึ้น อยากให้ประเทศไทยเป็น One Country One Platform หรือ One Country One Application เพราะวันนี้มีแอปพลิเคชันจำนวนมากที่นักท่องเที่ยวต้องดาวน์โหลด  แต่ละกรม แต่ละกระทรวง ก็มีแอปพลิเคชันของตัวเอง แต่ข้อมูลกลับไม่ได้เชื่อมโยงกัน ทางกระทรวงดิจิทัลฯ จะเป็นแม่งานในการเชื่อมโยงข้อมูล และพยายามทำให้ แอปพลิเคชันรวมเป็นหนึ่งเดียวให้ได้ เพื่อลดความซับซ้อน ความยุ่งยากของพี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยว”

ศูนย์ IOC (Intelligence Operation Center) หรือ Command Center ศูนย์บัญชาการและรวบรวมข้อมูลระดับเมืองของเทศบาลป่าตอง เป็นการขยายผลสู่ระดับจังหวัดที่ดำเนินการร่วมกับ จังหวัดภูเก็ต องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน โดยศูนย์ดังกล่าวมีการนำแพลตฟอร์มจัดเก็บและบริหารข้อมูลเมือง (City data Platform: CDP) มาใช้วางแผน บริหารจัดการ และแก้ไขปัญหาของเมืองที่มีความซับซ้อนให้เกิดประสิทธิภาพ

เชื่อมั่นต่างชาติเข้าภูเก็ตได้ตามเป้าหมาย 10,000 คนต่อวัน

“เชื่อว่าหากมีการโปรโมทการท่องเที่ยว พร้อมทั้งการผ่อนปรนมาตรการบางเรื่อง ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ก็จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น รวมทั้ง หากสามารถขยายไปยังแหล่งท่องเที่ยวไปยังพังงาและกระบี่ได้สะดวกขึ้น ก็จะช่วยให้กิจการด้านการท่องเที่ยว โรงแรมต่าง ๆ มีรายได้ที่ดีขึ้น”

ก้าวต่อไปของโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ในการขยายผลความสำเร็จไปยังจังหวัดอื่น ๆ ยังต้องอาศัยการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อลดความซับซ้อนและเพิ่มความสะดวกให้กับนักเดินทาง อันหมายถึง Big Data ด้านการท่องเที่ยว นับเป็นการเดินหน้าตามนโยบาย Thailand 4.0 ที่คนไทยหรือผู้ที่เข้ามาในเมืองไทย จะใช้ชีวิตได้อย่างคล่องตัวเท่าทันยุคสมัยมากยิ่งขึ้น

Post a comment

eighteen − fifteen =