หอยตอก ของชอบครอบครัวกุ้ง
อีกครั้งที่สายตาทำหน้าที่เพียงสะท้อนภาพ ตอนที่เราผ่านไปในย่าน ต.ท่าทองใหม่ อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี มองข้างทางเพลินๆ ก็เห็นกองพะเนินของ “ทราย” ในความคิด ก็สงสัยอยู่ว่าเขาเอาทรายมากองทำไม ส่วนใจที่หมายถึงสมองก็จับจ้องกับการเข้าสู่ดินแดนแห่งหอย แต่ก็พุ่งไปที่หอยใหญ่ในท้องทะเลโน่นแหละ
ความคิดไม่ได้พุ่งตามควันที่พวยพุ่งตรงหน้า แม้จะเห็นอยู่ว่า ชาวบ้านกำลังเทกองอะไรบางอย่างลงไปในหม้อใบใหญ่ คนๆๆ แล้วก็ตักออกมา ไม่นานก็ตักออกไปทิ้งรวมกับ “ทราย” กองใหญ่ ….เขาทำอะไรกัน!
ทันทีที่สายตาพอจะโฟกัสในระยะใกล้ เราก็พบกับหอยขนาดจิ๋ว ซึ่งอาจจะมีขนาดพอๆ กับเปลือกหอยชายหาดที่เราเดินเหยียบย่ำ ยืนดูแบบไม่ขัดจังหวะคนทำงานสักพัก ก็ได้ทีออกโรงถาม จนได้รู้ว่า นี่คือ “หอยตอก” อาหารชั้นเลิศของกุ้งที่เลี้ยงกันมากในแถบสุราษฎร์ธานีและจังหวัดใกล้เคียง
“ปูเป้” สาวชาวกาญจนดิษฐ์ ที่กำลังโกลาหลกับการล้างหอยตอก เล่าว่า หอยตอกเป็นหอยที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เกิดมาแล้วมีอายุเพียง 1 ปี ถ้าไม่นำมากินก็ตายไปเปล่าๆ ชาวประมงจึงออกทะเลไปลากอวนมาเพื่อนำมาให้กุ้งกินเป็นอาหาร ซึ่งปลากะพงที่เลี้ยงไว้ก็กินได้ แต่จะชอบหรือไม่นั้นคงไม่รู้ รู้แต่ว่านี่เป็นอาหารกุ้งออร์แกนิก ไม่มีสารเคมีแน่นอน กุ้งกินแล้วตัวโตไว ไม่ค่อยงอแง เรื่องนี้ใครเลี้ยงกุ้งคงทราบดีว่าการเลี้ยงกุ้งมันยากแค่ไหน ขนาดที่ต้องทะนุถนอมนอนเฝ้ากันทั้งวันทั้งคืน
นี่เป็นครั้งแรกที่เราได้รู้จักกับหอยตอก ซึ่งน้องปูเป้บอกว่า ในสุราษฎร์ก็มีแค่อำเภอกาญจนดิษฐ์ที่มีหอยตอก และทำกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันหลายสิบครัวเรือน
กระบวนการของเชฟชาวบ้านก่อนเสิร์ฟหอยตอกให้กับน้องกุ้ง ดูแล้วไม่ยุ่งยาก แต่อาศัยแรงกันนิดหน่อย เริ่มจากนำหอยตอกสดที่ได้มาล้างทำความสะอาดให้โคลนออกจากตัวหอยไปก่อน แล้วนำลงต้มเพียงไม่นาน คนๆ ให้โคลนและเปลือกหลุดออกมา ส่วนเนื้อจะลอยตัวขึ้นมา จากนั้นก็ตักเนื้อไปล้างเพื่อให้สะอาดหมดจดอีกรอบ แล้วก็แพ็คส่งได้ ส่วนเปลือกที่แยกออกก็จัดการตักออกจากน้ำแล้วทิ้งไป
ที่เห็นเป็นกองทราย ก็คือกองเปลือกหอยตอกที่กองพะเนิน เพราะแต่ละวันจะทำหอยตอกกันราว 300-400 กิโลกรัม ขายได้กิโลกรัมละ 15 บาท สร้างรายได้ชั้นเยี่ยมให้กับชาวบ้านในแถบนี้ เฉลี่ยแล้ว 4 วันก็น่าจะได้สัก 10,000 บาท
กำนันชัยยุทธ โกละกะ บอกกับเราว่า หอยตอกเป็นอาชีพที่นิยมกันกันมากใน หมู่ 3 ต.ท่าทองใหม่ อ.กาญจนดิษฐ์ ซึ่งมีปากคลองออกทะเล ชาวประมงจะทำการออกเรือไปราว 5 ชั่วโมง เพื่อลากอวนหอยตอกมา โดยชาวบ้าน 80% ในหมู่ 3 มีอาชีพทำหอยตอก ซึ่งเป็นวิถีชีวิตอันเป็นเอกลักษณ์ของที่นี่ หากนักท่องเที่ยวผ่านมาผ่านไปก็แวะชมกันได้
เราตระเวนไปในแถบใกล้ๆ ก็เห็นชาวบ้านทำหอยตอกกันอยู่หลายครัวเรือน แอบถามหลายๆ คนว่า “กินได้ไหม” บ้างก็บอกกินได้ บ้างก็บอกไม่ได้ “เขาไว้ให้หอยกิน” แต่พอถามย้ำว่า “แล้วเคยกินไหม” ก็บอก “เคยกิน” แต่ต้องเป็นหอยที่ต้มน้ำแรก จะได้ไม่เปื้อนโคลนมาก
อยากรู้เหมือนกันว่ารสชาติเป็นอย่างไร จะได้รู้ว่าทำไมน้องกุ้งเขาถึงชอบกิน