กิน ใช้ ชม บูชา เส้นทางสายบัว ที่ไม่เคยสาย
กลีบบางที่รัดตรึงเข้าด้วยกันอย่างมีชั้นเชิง ยามผลิบานก็เผยกลีบซ้อนซ่อนเฉดสี เป็นความงามหลากมิติของดอกบัว ดอกไม้ที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา ใช้ทั้งการประดับและบูชา และเป็นตัวแทนของศรัทธาอันบริสุทธิ์
หลายพื้นที่ของประเทศไทย มีการปลูกบัวกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เพราะปริมาณความต้องการการใช้ดอกบัวยังมีอย่างสม่ำเสมอ ไม่เฉพาะวันพระเท่านั้น
ด้วยสารพัดประโยชน์ของบัว ตั้งแต่ราก ก้าน ใบ ดอก ทำให้เกิดภูมิปัญญาจากดอกบัวขึ้นอีกมาก กระจายไอเดียได้หลากหลายเหมือนสายบัวที่แตกแขนงออกไปจนเต็มบึง
พื้นที่จังหวัดนครปฐมเป็นอีกแหล่งของการปลูกบัว หรือที่เรียกกันว่าการทำนาบัว ซึ่งดัดแปลงมาจากนาข้าว และวันนี้เราคงได้เห็นแล้วว่า นอกจากการกินและใช้บัวแล้ว การได้ชมบัวยังสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับเกษตรกรได้อีกทาง
เราเดินทางมายังจังหวัดนครปฐม ด้วยภารกิจสำรวจเส้นทางท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดย สำนักงานเกษตรจังหวัดนครปฐม พร้อมกับเครือข่ายชุมชน ซึ่งได้จัดทำเส้นทางเที่ยวชมสวนเกษตรในหลายพื้นที่ของจังหวัดนครปฐม
ในช่วงเวลาการจราจรโล่งๆ หากคุณไม่ใช่คนขับ นครปฐมเป็นก็เป็นจังหวัดที่เผลอสัปหงกไปครั้งสองครั้งก็ไปถึง เพราะใกล้กันจนไม่รู้ตัว แต่เพราะใกล้กันนี่แหละ ยิ่งดูไกล เพราะจะบอกว่า “ค่อยไป…เอาไว้ก่อน” เสียทุกที
คลองมหาสวัสดิ์ อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม เป็นคลองที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) โปรดเกล้าฯ ให้ขุดเพื่อเป็นเส้นทางเสด็จฯ ไปนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ ใช้เวลา 5 ปี จึงขุดเสร็จ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2398 – 2403 เกิดเป็นคลองขุดที่มีความยาวจากกรุงเทพถึงแม่น้ำท่าจีน 27 กิโลเมตร
เส้นทางท่องเที่ยวเลียบคลองมหาสวัสดิ์ เริ่มต้นกันที่ท่าเรือวัดสุวรรณาราม มาถึงท่าน้ำเล็กๆ มีร้านก๋วยเตี๋ยวชื่อดังสูตรต้มยำโบราณ มาตั้งแต่รุ่นอาก๋ง นับร้อยปีแล้ว เห็นธรรมดาๆ ด้วยวัตถุดิบแสนธรรมดา แต่รสชาติไม่ธรรมดาเลย ด้วยเอกลักษณ์ของน้ำซุปใส่กุ้งแห้ง ได้ความเข้มหอมแบบบ้านๆ อร่อยจริง จะหากินแบบนี้ก็ต้องที่นี่เท่านั้น
ใช้เวลาเพียงไม่นาน มุ่งหน้าไปอย่างเย็นใจสู่ “นาบัวลุงแจ่ม” ยามสายริมคลองมหาสวัสดิ์ยังคงเงียบสงบ
พื้นที่ราว 15 ไร่ เป็นบึงบัวที่ดัดแปลงมาจากทุ่งนา มีศาลาพักใจกลางบึงให้เลือกทอดน่องกัน 2 จุด วันนี้เรามาสาย แต่ก็ไม่สายจนเกินไป เพราะเจ้าของบ้านใจดี ยังพาเราออกเรือไปลอยในบึง แหวกว่ายทุ่งใบบัวอยู่สักพักพอชื่นใจ
เพราะบัวระยะพอเหมาะ จะทำการเก็บกันตั้งแต่เช้า ราว 7.00-9.00 น. เรามาถึงกว่าสิบโมงเช้าเข้าไปแล้ว ก็ชื่นชมบัวกันแบบเบาๆ แต่ทุกคนก็จัดเต็มความสนุกสนาน เริงร่าเบิกบานแบบไม่ต้องพึ่งดอกบัว
นาบัวลุงแจ่ม มีการเก็บดอกบัวได้มากถึง 3,000-4,000 ดอกต่อวัน แต่หากหน้าหนาวหรือฝนตกหนักก็จะเก็บได้ 1,000-2,000 ดอก เรียกได้ว่า มีรายได้งดงาม แถมยังต่อยอดได้อีกหลายทาง
ใครอยากลองเก็บบัว ก็ติดต่อทางเจ้าของบ้านได้ เขาขายเพียงดอกละ 4 บาท ส่วนใบขาย 1 บาท หากจะลองดื่มชาเกสรดอกบัวก็ขวดละ 10 บาท ติดใจก็ซื้อตัวชาไปชงเองที่บ้านได้ด้วย
วันนี้มีกิจกรรมทำเมี่ยงคำจากใบบัว นึกไม่ออกเลยว่า กลีบดอกสวยๆ ของบัวหลวง จะรสชาติเป็นอย่างไร แอบคิดว่าน่าจะต้องฝาดๆ ขมๆ เอาเป็นว่าต้องลองเลยแล้วกัน
ถาดเมี่ยงคำจัดเต็มเครื่องเมี่ยง มีใบบัวเป็นฐานรองห่อ ทำหน้าที่แทนใบชะพลู ด้วยความโค้งเหมือนเรือท้องป่องๆ ทำให้กลีบบัวรองรับเครื่องเมี่ยงได้แบบจัดเต็ม ความอ่อนตัวแต่ยืดหยุ่น ยังทำให้การห่อเมี่ยงเป็นไปอย่างง่ายดาย อะไรจะสวยและสะดวกเช่นนี้
จัดแจงเข้าปากด้วยความเรียบร้อย วูบนึงก็รู้สึกไปเองว่า อะไรที่เป็นดอกบัว มักจะต้องมาพร้อมกิริยาสงบเสงี่ยม จนแทบจะนั่งพับเพียบทำเมี่ยงกิน แต่ก็กลัวว่าจะอุ้ยอ้ายสายต่อเวลาของคนอื่นเขา เพราะใครๆ ก็อยากจะลิ้มลองเจ้าเมี่ยงคำกลีบบัว แถมคำเดียวยังไม่พอเสียด้วย จนทีมงานต้องบอกไปต่อกันเถอะ ยังมีอะไรให้ชิมอีกเยอะ
การล่องเรือชมสวน เลียบคลองมหาสวัสดิ์ จะประกอบด้วยเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนเกษตร 5 จุด คือ นาบัวลุงแจ่ม บ้านฟักข้าว กลุ่มแม่บ้านทำข้าวตัง สวนกล้วยไม้เศรษฐกิจ และกลุ่มแม่บ้านแปรรูปอาหารและผลไม้ ต.ศาลายา ซึ่งแต่ละจุดก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน โดยเฉพาะบ้านฟักข้าว ซึ่งสนุกสนาน สดใส ได้รสชาติเหมือนตัวฟักข้าว
แต่ที่เรื่องราวของสายบัวได้ลากยาวไปถึงนั้นอยู่ที่ กลุ่มแม่บ้านเกษตร ต.ศาลายา อีกจุดที่เข้ามาแวะเที่ยวชม หรือปักหลักชิมกันได้แบบจริงจัง เพราะมีทั้งผลไม้ ของกินเล่น หรือจะฝากท้องกับมื้อหนักๆ ก็มาพักผ่อนที่จุดนี้ได้ บริเวณที่ตั้ง จะอยู่ตรงข้ามวัดสุวรรณาราม ซึ่งเป็นจุดลงเรือนั่นเอง
นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ จึงเลือกล่องเรือไปเที่ยวชมจุดอื่นๆ ก่อน แล้วย้อนกลับมารับประทานข้าวเที่ยงกันที่นี่ เพราะทีเด็ดเขาคือ “ข้าวห่อใบบัว” ที่สามารถร่วมลงมือทำได้ ซึ่งส่วนนี้จะต้องติดต่อล่วงหน้า โดยราคาของข้าวห่อใบบัวอยู่ที่ ห่อละ 80 บาท ส่วนอาหารพื้นบ้านอื่นๆ ก็สอบถามกันเข้าไปก่อนได้
สำหรับนักท่องเที่ยวที่ไม่ได้มาฝากท้องกันที่นี่ แวะมาแล้วก็จะได้ชิมผลไม้ตามฤดูกาล ช่วงนี้มีกล้วย มะม่วง ขนุน ส้มโอ ก็ได้ทานกันอย่างจุใจ
หรือใครที่อยากจะโลดโผนกันสักหน่อย ก็ไปนั่งท้ายรถอีแต๋น ที่เรียกว่า “พระเอกสิงห์คะนองนา” ด้วยลีลาของคุณลุงวัยเก๋า ทางตรงอาจไม่หวือหวาเท่าไหร่ ได้ชมนาชมสวนกันตามสบาย แต่พอถึงทางเลี้ยวเมื่อไหร่ พี่แกต้องขอโชว์ลีลาอลังการ หากดริฟท์ได้ แกคงทำไปแล้ว
เฮฮากันพอสมควรก็กลับมายังจุดเดิม คนที่ทดลองทำข้าวห่อใบบัวไว้ ก็รอชมรสชาติของมันได้เลย เพราะแม้ทุกอย่างจะสุกมาแล้ว แต่เมื่อห่อเสร็จก็ต้องเอาไปอบเพิ่มความหอมกรุ่น ช่วงที่ได้ลองห่อ ก็ได้ทราบถึงวิธีการด้วย
โดยจะใช้ใบบัวหลวงขนาดใหญ่ ใช้ใบตองรองอีกชั้น ก่อนที่จะนำเครื่องเคียง ทั้งหมูทอด กุนเชียง เม็ดบัว เห็มหอม กุ้งแห้ง เกาลัดโดยจะมีไข่แดงเค็มวางตรงกลาง โปะด้วยข้าวที่อัดแน่นในถ้วย แล้วก็ห่อๆๆ ตามวิธีการ มัดแล้วนำไปนึ่ง จากนั้นก็ไปวิ่งเล่นกับเพื่อนๆ สักพัก ก่อนจะมาเปิดใบบัวออกด้วยการผ่า เพราะถ้าไม่ผ่า มันก็จะเสียรูปทรงที่บรรจงจัดมา
เพียงครึ่งวันที่คลุกคลีอยู่กับชาวบ้านริมคลองมหาสวัสดิ์ ได้ชม ได้ชิม ได้ลอง ได้ลิ้ม ด้วยตัวเองแล้วบอกได้เลยว่า การท่องเที่ยวเชิงเกษตรไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อ ไม่เหนื่อย ไม่ลำบากอะไรเลย แถมยังเข้าถึงการกระจายรายได้สู่ชุมชนโดยตรง
และที่นี่ก็มีการรวมตัวเพื่อร่วมมือกันสร้างเส้นทางการท่องเที่ยว โดยการท่องเที่ยวแต่ละครั้ง จะต้องเช่าเรือลำละ 300 บาท (นั่งได้ 6 คน) และมีค่าใช้จ่ายในการนำพาไปท่องเที่ยวใน 5 จุด อีกคนละ 100 บาท เท่ากับว่าใช้จ่ายเพียง 150 บาทต่อคน ได้ไป 5 ที่พร้อมกิจกรรม และการชิมผลิตผลทางการเกษตรในจุดๆ นั้น
โดยศูนย์กลางการติดต่อท่องเที่ยวชมสวนคลองมหาสวัสดิ์ คือ ผู้ใหญ่มนูญ โทร.081-495-9091 คุณวันชัย 081-498-6340 และคุณแจ๋ว 089-403-6955 (ส่วนเสริมอื่นๆ อย่างข้าวห่อใบบัวหรือมื้อเที่ยงไม่รวมในโปรแกรม และจำเป็นต้องติดต่อเข้าไปล่วงหน้า)
เส้นทางสายบัวที่ไม่เคยสาย แม้จะมาในช่วงสายไปแล้วเราก็ยังพบความงามหลากมิติของบัว และสายบัวที่ไม่เคยสายนี้ ยังแสดงให้เห็นถึงความหมายแห่งความดีงาม ที่จะเกิดขึ้นช่วงเวลาไหน ก็ไม่เคยสายเลย