Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam erat volutpat. Ut wisi enim

Subscribe to our newsletter

Lorem ipsum dolor sit amet, consectetuer adipiscing elit, sed diam nonummy nibh euismod tincidunt ut laoreet dolore magna aliquam
[contact-form-7 id="9582" html_class="default"]

ชีวิตที่มากกว่า 1 ของ ดร.หนึ่ง จักรกฤษณ์ สิริริน

1 อาจมิได้หมายความเพียงแค่ความเป็นหนึ่ง

อาจเป็น 1 ที่ไล่เรียงไปหา สอง สาม และ 4 5…6
เป็น 1 ที่มิใช่อยู่เหนือสุด แต่เป็น หนึ่ง ที่เป็นจุดเริ่มต้น

เฉกเช่นกับมิติของ ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน
จากหนุ่มไอทีในช่วงบุกเบิกของเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตเมืองไทย ข่าวออนไลน์ ในยุคแรก

นั่นคือ ในสายงานไอที

จากเริ่มต้นด้วยการขอโอกาสเขียนงานวิจารณ์ภาพยนตร์  ผ่านร้อนหนาว เขียนบทความในหลากหลายนามปากกา กระทั่งก้าวสู่บทบาทบรรณาธิการบริหาร 

นั่นคือ 1 ในสายงานข่าว งานเขียน

และเพราะรักในงานสอน จึงเรียนต่อจนจบปริญญาเอก

นั่นคืออีก 1 ในสายวิชาการ 

จวบจนปัจจุบันชีวิตของ ดร.จักรกฤษณ์ ยังหลากด้วยมิติ
เป็นมิติที่มากกว่า 1 
หนึ่ง คือ ผู้อำนวยการสายงานการศึกษา ฝึกอบรม และให้คำปรึกษาสถานประกอบการ สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) หรือ ส.ส.ท. 
หนึ่ง คือ นักเขียนคอลัมน์ประจำนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ เว็บไซต์อีกหลายสำนัก
หนึ่ง คือ นักวิจารณ์ภาพยนตร์-เพลง ที่อัดแน่นด้วยข้อมูล  และนักเขียนในนาม “นกป่า อุษาคเณย์” “ประภาคาร” และอีกหลายนามปากกา

……….

ชื่อเล่นว่า หนึ่ง
ใช่ครับ น้องชายชื่อ สอง และสาม

จากงานไอทีมาถึงงานสอน อะไรที่ทำให้รู้ว่า เราเป็นนักเขียนได้
อาจจะเป็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ก็ได้นะ เพราะปกติชอบดูหนัง ฟังเพลง ชอบอ่านหนังสือมาก ตอนเด็ก ๆ ชอบวิชาภาษาไทยด้วย 

ช่วงนั้น (ปี 2540-2548) สื่อสิ่งพิมพ์มีความเฟื่องฟูขนาดไหน
ถือว่าเป็นยุครุ่งเรืองของสิ่งพิมพ์ เอเจนซี่ค่อนข้างจะเฟื่องฟู โฆษณาเยอะมาก นอกจากงบประมาณที่ใช้กับค่ายใหญ่ ๆ อย่างเนชั่น  ผู้จัดการ  หรือบางกอกโพสต์แล้ว ยังมีงบเหลือมาลงสื่อเล็ก ๆ อีก เค้กมันใหญ่มาก 

ถ้าเปรียบเทียบค่าต้นฉบับสมัยก่อนกับสมัยนี้ถือว่าเยอะ อย่างเครือ GM ทำบทสัมภาษณ์ชิ้นหนึ่งให้ประมาณหมื่นกว่าบาท ที่อื่นก็ไล่ ๆ กันประมาณนี้ ถ้าเป็นเรื่องสั้น วรรณกรรม ประมาณ 3,000 บาท ถือว่าเยอะในสมัยนั้น ตอนนี้ราคาก็ลดลงไป ส่วนเรื่องสั้นก็ไม่มีเวทีแล้ว ไปอยู่ในออนไลน์มากกว่า  

มองเห็นอะไรในยุคเปลี่ยนผ่านของธุรกิจสื่อ
ในช่วงท้าย ก่อนยุคเปลี่ยนจากสื่อสิ่งพิมพ์สู่ออนไลน์ เริ่มเห็นโฆษณาถอนจนเหลือโฆษณาไม่กี่ตัว ช่วงนั้นนิตยสารบางเล่ม หันไปทำเว็บข่าว แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่ ต่อมาจึงเป็นยุคเริ่มต้นของ The Standard, The Momentum  ถือเป็นรอยต่อ   

ผมว่าเอเจนซี่ปรับตัวช้า ถ้าปรับตัวเร็วก็จะโยกงบมาลงได้เร็ว ในช่วงรอยต่อทำให้สื่อออนไลน์ต้องดิ้นรน อดทนเอง ประมาณ 5 ปี กว่าจะเข้าใจกัน 

อะไรเกิดขึ้นกับสื่อออนไลน์ ที่มีเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน
การไม่มีสถาบันรองรับ จึงขาดความน่าเชื่อถือ ขาดการกลั่นกรอง ขาด Gatekeeper ไม่มีคนคอยเฝ้าประตู เห็นอะไรขายได้ก็ลงไปเป็นข่าว ก๊อปปี้กันเละเทะไปหมด ถ้าเป็นสื่อสมัยก่อนจะมีบรรณาธิการ มีสถาบันวิชาชีพคอยดูแล 

อนาคตสื่อ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ จะไปทิศทางไหน
สุดท้ายก็จะเหมือนกับทุกวงการ ตัวจริงจะอยู่ ตัวปลอม ตัวย่อย ทยอยหายไป 
แต่ว่าผมดูแล้ว  สื่ออิสระอาจจะทำแค่เอาสนุก เอามัน  ว่าใครเร็วกว่า เขียนได้แรงกว่า

สิ่งที่เอื้อหนุนกันอยู่ในสามอาชีพที่ทำ งานบริหาร ครู นักเขียน  
การเชื่อมโยงขององค์ความรู้ เดิมทีตอนทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือน ช่วงเวลาว่าง เรามีเวลาไปเสพสื่อศิลปะ ไปแกลอรี่ อ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง เอื้อให้กับอาชีพที่เรามาทำเรื่องคอนเทนต์ได้ หลัง ๆ ก็วกกลับมาเรื่องสอนได้ด้วย การสอนมีการยกตัวอย่าง มี Case Study เราสามารถยกตัวอย่างภาวะสังคม ประวัติศาสตร์ เข้าไปในการสอนได้

ถ้าอยากเขียนให้เก่ง?
ผมเองไม่ได้จบนิเทศ อาศัยความช่างสังเกต ชอบอ่าน และอาจจะเป็นเรื่องของรสนิยม จริตของแต่ละคน ผมชอบอะไรที่มันสั้น ๆ กระชับ หรือจะเป็นการเขียนแนวทดลอง ของ “พี่สุชาติ สวัสดิ์ศรี” เรื่องสั้นที่ไม่เขียนเลย ตีพิมพ์กระดาษเปล่า 10 กว่าหน้า แล้วบอกว่านี่คือเรื่องสั้นชื่อ“ความว่าง” ก็ถือเป็นเทคนิคใหม่ ๆ นำมาผสมผสานวิธีการเขียนจากการอ่านให้มาก ดูตัวอย่างจากรุ่นพี่ 

นามปากกาที่มีคนรู้จักมากที่สุด 
ผมมีนามปากกาเป็นสิบชื่อ ชื่อผู้หญิงก็มี ที่เป็นนามปากกาลับก็มี แต่ที่คนรู้จักเยอะ ๆ คือ “ประภาคาร”เขียนวิจารณ์วรรณกรรมที่ผู้จัดการ ให้ดาวเรื่องสั้นในแต่ละสัปดาห์ สยามรัฐลงเรื่องสั้นของใคร มติชน เนชั่น จุดประกายวรรณกรรม กุลสตรี ขวัญเรือน แม้กระทั่งขายหัวเราะก็ซื้อเพราะมีเรื่องสั้นด้วย ผมจะไปซื้อมาดูว่ากวีลงเรื่องอะไร แล้วเลือกให้ดาว ถูกด่ามั่ง ชมมั่ง เพื่อนก็โทรมาด่า ทำไมให้ดาวคนโน้น ไม่ให้ดาวเขา 

ความสนใจที่ทำให้เขียนเรื่องเพลง เรื่องหนัง
ผมฟังเพลงมาตั้งแต่ยุคจำความได้ เพราะผมเกิดปี ’73 มาเริ่มฟังเพลงจริงจังเมื่อยุค ’80 กับน้องชาย “สอง พาราด็อกซ์” (จักรพงศ์ สิริริน)  เริ่มเล่นดนตรีด้วยกัน ฟังเพลงด้วยกัน ทั้งเพลงสากลเก่า ๆ ร็อคยุคแฮร์แบนด์  บอง โจวี กันส์แอนด์โรสเซส ควีน ลูกกรุง ลูกทุ่ง ร็อคไทย เพลงบรรเลง เพื่อชีวิต ก็ฟังหมด เป็นฐานที่ทำให้มีความรู้เรื่องเพลงหลายแบบ ช่วงหนึ่งตอนวัยรุ่นก็ชอบเพื่อชีวิต พี่หงา พี่แอ๊ด

ส่วนหนังก็ชอบดู อย่างหนังไทย ชอบหนังของ เจ้ย-อภิชาติ​พงศ์ วีระเศรษฐกุล ซึ่งมันก็คือหนังอาร์ต หนังต่างชาติก็ชอบสไตล์หนังยุโรป แต่ว่าหนังฮอลลีวูด หนังแมสก็ดูได้  

วงของไทยที่เข้าตาในปัจจุบัน 
ชื่นชมกันเองได้ไหม ผมชอบพาราด็อกซ์  ส่วนการเขียนเพลงผมชอบบิ๊กแอส ชอบ “กบ-ขจรเดช พรมรักษา” คนแต่งเพลง “ความเจ็บปวด” ให้ปาล์มมี่  แต่งเพลงให้บอดี้ สแลม    

หน้าที่ปัจจุบันของ ดร.หนึ่ง จักรกฤษณ์ สิริริน
ผมเป็นผู้อำนวยการสายงานการศึกษา ฝึกอบรม และให้คำปรึกษาสถานประกอบการ สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) https://www.tpa.or.th หน้าที่หลักคือ ดูแลเรื่องคอร์สการผลิตหลักสูตรใหม่ ๆ ให้รองรับสถานการณ์ปัจจุบัน ความร่วมมือใหม่ ๆ จากข้างนอก เช่น หลักสูตรออกแบบโปสเตอร์ คิดได้แต่จะเอาใครมาสอนล่ะ ถ้าเราไม่เคยผ่านการทำงานมากว่า 20 ปี ได้รู้จักพี่ ๆ เพื่อน ๆ ในวงการ ก็คงยากที่จะนึกชื่อออกขึ้นมาเลย พี่จักรพงษ์ ไง สอนยูทูบก็พี่หยอยไง มันมีอยู่เบื้องหลังความคิด เพราะเราผ่านผู้คนเหล่านี้มาแล้ว

วิธีการคิดหัวข้อสำหรับการอบรมสำหรับกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ในปัจจุบัน
เดิมทีสมาคมจะมีหลักสูตรเพิ่มประสิทธิภาพทางการผลิต สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ  คิดว่าฐานเดิมเขาทำดีอยู่แล้ว น่าจะต่อยอดด้วยเรื่องใหม่ ๆ เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (s-curve)

ส่วนนั้นเป็น Hard Skill ในขณะเดียวกัน ทักษะความคิด (Soft Skill) ก็สำคัญ สามารถนำมาให้ความรู้เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการได้ เช่น  สอนทำป้ายในโรงงาน โดยไม่ต้องไปจ้าง สอนพนักงานให้ทำกราฟฟิกเอง แปะป้าย หรือทำวิดีโอเอง เพื่อประชาสัมพันธ์ข่าวสารของโรงงาน แต่ส่วนนี้คู่แข่งเยอะขึ้น ถือเป็น Red Ocean

ผมเลยมาเปิดตลาด Blue Ocean ขยายกลุ่มเป็นกลุ่มเยาวชน ทำค่ายสะเต็ม (STEM- Science, Technology, Engineering and Mathematics) ไม่ให้หลุดจากคอนเซ็ปต์ของสมาคมเรื่องการผลิตและเทคโนโลยี ถ้าทำค่ายศิลปะก็จะหลุดไปไกล เพราะเด็กรุ่นนี้โตก็จะมาเรียนหลักสูตรโรงงาน หรือไปเรียนในมหาวิทยาลัยของสมาคมด้วย คือ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น 

หรือในช่วงเวลาต่าง ๆ เช่น กันยายน เป็นเดือนเกษียณ เราทำหลักสูตรเพื่อคนสูงอายุ  การทำยูทูปสำหรับผู้สูงอายุ บางคนอาจจะทำเป็นแล้ว แต่จะต่อยอดยังไงให้ขายของได้ หรือ  การฝึกอบรมด้าน IOT ภายในบ้าน เป็นต้น โดยจะเริ่มหลักสูตรในเดือนตุลาคมเป็นต้นไป

ส่วนงานเขียนปัจจุบัน ยังเขียนที่มติชนสุดสัปดาห์ถือเป็นความใฝ่ฝันตั้งแต่เด็ก หลังจากอยู่ที่เนชั่นสุดสัปดาห์มาประมาณ 25 ปี และมีผลงานในสำนักข่าว SALIKA ส่วนงานวิจารย์หนังและเพลง เขียนไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัว 
……….
ประวัติฉบับย่อของ ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน

เริ่มต้นทำงานอายุ 17 ปี ขณะเรียน ปวช. วิทยาลัยพาณิชยการธนบุรี สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ได้เข้าทำงานกับองค์กรมืออาชีพ เช่น ปูนซิเมนต์ไทย (SCG) และ TPI

ปี 2540 เข้าร่วมโครงการมิยาซาว่า ผ่านการอบรมความรู้ทางด้านไอที จากนั้นสมัครเป็นผู้ช่วยอาจารย์ที่วิทยาลัยนวัตกรรม ม.ธรรมศาสตร์ 

เมื่อรู้ว่าชอบอาชีพการสอนจึงไปเรียนต่อปริญญาโทและกลับมาเป็นอาจารย์อย่างเต็มตัว ก่อนที่จะผันตัวเองไปดูระบบหลังบ้านให้กับเว็บไซต์ผู้จัดการ นับเป็นยุคแรก ๆ ของข่าวออนไลน์ ซึ่งอยู่ในช่วงบุกเบิกของเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตเมืองไทย  ทำไปทำมา เมื่อเห็นว่าตัวเองอยู่ในอุตสาหกรรมคอนเทนต์ควรจะมีความรู้ด้านนี้ติดตัวไว้บ้าง เลยขอโอกาสเขียนวิจารณ์เรื่องหนัง ขณะนั้นอายุ 25 ปี จากนั้นก็กลับไปสอนพิเศษบ้าง ทำงานไอทีบ้าง ควบคู่กับการเรียนต่อ แต่ยังคงทำงานเขียนยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน

ดร.จักรกฤษณ์ เล่าว่า จากการทำงานด้านไอที สู่ความเป็นอาจารย์ จนก้าวเข้าสู่วงการสื่อสารมวลชน นับเป็นเส้นทางที่มีให้เลือกได้หลายทางในช่วงวัย 25 ปี แต่ดูเหมือนว่าที่ไปได้ดีคืองานเขียน แม้ว่าจะยังไม่เป็นนักเขียนชื่อดัง แต่มีผู้ให้โอกาสร่วมงาน คือ พี่แคน สาริกา (บัณฑิต จันทศรีคำ) และพี่เป็ด พงษ์ศักดิ์ ศรีสด ร่วมเป็นหนึ่งในคอลัมนิสต์ของเนชั่นสุดสัปดาห์  รวมทั้งการชักชวนจากรุ่นพี่อีกหลายท่าน ที่เครือ GM นิตยสาร VOTE มติชนสุดสัปดาห์ และมีผลงานในสำนักข่าว SALIKA และ MeetThinks ทำให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น 

Post a comment

one + 20 =