จาก “โภคภัณฑ์” ก้าวไปสินค้าเชิง “นวัตกรรม” งานวิจัยข้าวไทย สู่ไทยแลนด์ 4.0
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปเป็นประธานทรงเปิดงาน “การประชุมวิชาการข้าวแห่งชาติ ครั้งที่ 5 ประจำปี 2561” ทรงมีรับสั่งให้ฟื้นฟูอนุรักษ์พันธุ์ข้าวไทยกว่า 1,300 สายพันธุ์ ไม่ให้สูญหาย และ ข้าวไทยจะเป็นไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างเต็มตัวนั้น นอกจากมีการแปรรูปข้าวด้วยกระบวนการทางเทคโนโลยีแล้ว หากแต่ต้องส่งออกไปขายผ่านระบบออนไลน์
เมื่อวันที่ 23 พ.ค.61 เมื่อเวลา 15.00 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปเป็นองค์ประธาน ทรงเปิดงาน การประชุมวิชาการข้าวแห่งชาติ ครั้งที่ 5 ประจำปี 2561 ซึ่ง สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ร่วมกับ มูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กรมการข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ งานวิจัยข้าวไทย สู่ไทยแลนด์ 4.0 เพื่อนำเสนอผลงานการพัฒนาข้าวไทยด้วยงานวิจัย นวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการแปรรูปข้าวแบบครบวงจรตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ข้าวของไทย และรักษาความเป็นผู้นำการค้าข้าวในตลาดโลก ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรม เซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชัน เซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ
โอกาสนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงมีพระดำรัสเปิดการประชุมวิชาการข้าวแห่งชาติ ครั้งที่ 5 ความว่า
“ข้าว” เป็นอาหารหลักของคนไทยและเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศมาช้านาน แม้ว่าประเทศไทยจะสามารถส่งออกข้าวได้มากเป็นลำดับแรกของโลก แต่ปัญหาข้าวไทยยังมีหลายประการที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือและเร่งแก้ไข อาทิเช่น ปัญหาด้านประสิทธิภาพการผลิต รวมถึงปัญหาด้านการตลาด ซึ่งส่งผลให้ขีดความสามารถและศักยภาพในการแข่งขันส่งออกข้าวของไทยมีแนวโน้มลดลง ไม่สามารถแข่งกับประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหม่ที่สามารถผลิตข้าวด้วยต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าได้
เพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคงทางอาหาร และยังคงเป็นผู้นำการส่งออกข้าวในตลาดโลก รัฐบาลได้กำหนดนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจสู่การเป็นประเทศไทย 4.0 ด้านการเกษตรจากการทำ การเกษตรแบบดั้งเดิม สู่การทำการเกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการบริหารจัดการและใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยโดยมุ่งการลดต้นทุนการผลิต การปรับเปลี่ยนการผลิตสินค้าจาก “โภคภัณฑ์” ไปสู่สินค้าเชิง “นวัตกรรม” เป็นการทำการเกษตรโดยใช้ความรู้เป็นเป้าหมายสำคัญ โดยเฉพาะสินค้าข้าวที่เป็นสินค้าปฐมภูมิและมีมูลค่าต่ำ ต้องมีการสร้างนวัตกรรมการผลิตข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม เปลี่ยนข้าวให้เป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องอาศัยพื้นฐานการวิจัยจากหน่วยงานหลายๆ หน่วย ร่วมกันระดมความรู้ความคิดและร่วมมือกันอย่างจริงจัง ข้าวไทยที่ออกสู่สากลมานานแล้ว จึงจะสามารถยืนหยัดในตลาดโลกได้อย่างมั่นคง ซึ่งจะมีผลทำให้เกษตรกรของไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้มั่นคง พึ่งพาตัวเองได้
การปรับเปลี่ยนการผลิตสินค้าจาก “โภคภัณฑ์” ไปสู่สินค้าเชิง “นวัตกรรม” เป็นการทำการเกษตรโดยใช้ความรู้เป็นเป้าหมายสำคัญ โดยเฉพาะสินค้าข้าวที่เป็นสินค้าปฐมภูมิและมีมูลค่าต่ำ ต้องมีการสร้างนวัตกรรมการผลิตข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม เปลี่ยนข้าวให้เป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ที่ทรงมีต่อสายพันธุ์ข้าวของประเทศไทย ดังนั้นระหว่างที่ทอดพระเนตร นิทรรศการเทิดพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีต่อข้าวไทย เพื่อสืบสานปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และนิทรรศการ “งานวิจัยข้าวไทย สู่ไทยแลนด์4.0” ด้วยความสนพระทัยอยู่นั้น ทรงมีรับสั่งให้กรมการข้าวฟื้นฟูอนุรักษ์พันธุ์ข้าวไทยที่มีมากกว่า 1,300 กว่าสายพันธุ์ที่กำลังสูญหายไปจากประเทศไทย เพราะในทุกวันนี้เกษตรกรไทยใช้ข้าวพันธุ์พื้นเมืองเป็นจำนวนลดลง และที่สำคัญข้าวเป็นหนึ่งในศาสตร์พระราชา ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงหว่านข้าวในแปลงทดลองที่โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิตเมื่อปี พ.ศ.2504 อีกทั้งทรงรับสั่งเพิ่มเติมว่าการที่ข้าวไทยจะเป็นไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างเต็มตัวนั้น นอกจากมีการแปรรูปข้าวด้วยกระบวนการทางเทคโนโลยีแล้ว หากแต่ต้องส่งออกไปขายผ่านระบบออนไลน์ได้อีกด้วย
นอกจากนี้ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้น้อมเกล้าฯ ถวายรถไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 2 คัน เพื่อใช้ในโครงการส่วนพระองค์ต่อไป
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า งานประชุมวิชาการข้าวแห่งชาติ ครั้งที่ 5 ประจำปี พุทธศักราช 2561 ภายใต้หัวข้อ “งานวิจัยข้าวไทย สู่ไทยแลนด์ 4.0” โดยความร่วมมือของ 9 หน่วยงานพันธมิตร ที่มีความเกี่ยวข้องในเรื่องข้าว มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลงานวิจัยและความรู้ด้านข้าวจากองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ และเป็นการพัฒนาเครือข่ายนักวิจัยและงานวิจัยด้านข้าว ซึ่งได้จัดให้มีกิจกรรมหลัก ประกอบด้วย การประชุม–เสวนาวิชาการ ซึ่งมี การบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “อนาคตข้าวไทย ทำไมต้อง Thailand 4.0” “ทิศทางงานวิจัยด้านข้าวในภาพรวมและตลาดข้าวในอนาคต” “Rice Innovation” และการนำเสนอผลงานวิจัยทั้งภาคบรรยายและภาคโปสเตอร์จากหน่วยงานวิจัยด้านข้าวทั่วประเทศ ภายใต้หัวข้อหลัก “งานวิจัยข้าวไทย สู่ไทยแลนด์ 4.0” โดยเน้นผลงานวิจัยที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง เพื่อให้นักวิชาการและนักวิจัยด้านข้าวตระหนักถึงความจำเป็นของการพัฒนางานวิจัยเพื่อให้สอดคล้องต่อการพัฒนาประเทศ
นางพรรณพิมล ชัญญานุวัตร ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร เจ้าภาพหลักการจัดงานในปีนี้ กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยด้านการเกษตร ได้ดำเนินงานสนองต่อนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการมุ่งเน้นยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรโดยเฉพาะชาวนาไทยให้มีรายได้มั่นคง มีความพร้อมที่จะทำงานร่วมกับหน่วยงานวิจัย และหน่วยงานด้านข้าวอย่างเต็มความสามารถ เพื่อสร้างองค์ความรู้ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสินค้าข้าวไทย ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้ชาวนาไทยสามารถลดต้นทุนการผลิต สร้างผลผลิตที่มีคุณภาพในปริมาณที่เพิ่มขึ้น ไม่เพียงการจำหน่ายข้าวเปลือก ข้าวสาร แต่ยังสามารถแปรรูปข้าวไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อันจะสร้างมูลค่าเพิ่มและเป็นทางเลือกในการจำหน่ายข้าวของชาวนาไทย ในขณะเดียวกันก็สามารถปลูกข้าวได้โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ทำให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคมีคุณภาพชีวิตที่ดี และยังช่วยให้ประเทศไทยสามารถรักษาตำแหน่งในการเป็นผู้ส่งออกข้าวไปสู่ตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน ซึ่งในการประชุมวิชาการข้าวแห่งชาติ ครั้งที่ 5 ประจำปี 2561 ยังจะเป็นคำตอบว่า ข้าวไทย จะก้าวไปสู่ ไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างไร
ทั้งนี้การประชุมวิชาการข้าวแห่งชาติ เป็นการจัดงานแบบหมุนเวียนเจ้าภาพ ปีเว้นปี โดยการจัดงานครั้งที่ 6 จะจัดขึ้นในปี พ.ศ.2563 โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดงาน